รวมคำศัพท์ด้านคอมพิวเตอร์และไอทีจากราชบัณฑิตยสภา โดยเพจสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้รวบรวมคำศัพท์ด้านคอมพิวเตอร์ เป็นภาษาไทย พร้อมกับความหมายของคำ ที่เชื่อว่าบางท่านอาจไม่รู้ว่า ศัพท์นี้เรียกเป็นคำไทยว่าอะไร ความหมายเป็นอะไร และเขียนอย่างไร เพจนี้ได้รวมไว้นานแล้วเป็นอัลบั้มเลยทีเดียว เลยจะมาดูคำศัพท์ด้านคอมพิวเตอร์และไอทีเป็นภาษาไทยกัน
รวมคำศัพท์ด้านคอมพิวเตอร์และไอทีจากราชบัณฑิตยสภา ที่หลายคนอาจยังไม่รู้
* หมายเหตุ ศัพท์คอมพิวเตอร์ ฉบับราชบัณฑิตยสภาที่เผยแพร่นี้มีจุดประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะนำข้อเสนอแนะของท่านไปปรับปรุงแก้ไของค์ความรู้ที่เผยแพร่นี้ก่อนจะบันทึกลงฐานข้อมูลงานวิชาการและจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มต่อไป
cyber bully การระรานทางไซเบอร์
ความหมายคือ การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์
cybersecurity ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ภาวะที่เครือข่าย ระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรม และข้อมูล พ้นจากภัยคุกคาม มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ คงความลับ คงความถูกต้องครบถ้วน และคงความพร้อมใช้งาน ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยบุคลากร กระบวนการทำงาน และเครื่องมือ ที่เหมาะสม
cybercrime; cyber crime; cyber-crime; computer crime อาชญากรรมไซเบอร์, อาชญากรรมคอมพิวเตอร์
1. การกระทำผิดกฎหมายโดยใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือ เช่น ทำลาย เปลี่ยนแปลง หรือขโมยข้อมูล
2. การทำให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเครือข่าย ถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทํางานตามปรกติได้
artificial intelligence (AI) ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
สาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเน้นเรื่องที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น แบ่งย่อยออกเป็นสาขาต่าง ๆ เช่น การแปลภาษาด้วยเครื่อง ระบบผู้เชี่ยวชาญ วิทยาการหุ่นยนต์ การรู้จำแบบ การรับรู้เยี่ยงมนุษย์ (human perception) ฯลฯ
augmented reality (AR) ความเป็นจริงเสริม (เออาร์)
สภาวะจริงที่แต่งเติมขึ้นด้วยเทคโนโลยี เช่น ผู้ใช้กำลังดูรถยนต์อยู่และต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ ก็อาจจะใช้แว่นตาชนิดพิเศษซึ่งสามารถแสดงข้อมูลรถยนต์ซ้อนลงบนภาพรถยนต์ที่กำลังมองอยู่ได้
avatar อวทาร์
รูปแทนตัวผู้ใช้ในโลกเสมือนหรือเกม ซึ่งอาจเป็นสองมิติหรือสามมิติก็ได้
big data ข้อมูลขนาดใหญ่
ข้อมูลหลากหลายปริมาณมหาศาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลดัชนีการค้นคืนของเว็บ ข้อมูลการสื่อสารทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อมูลในเครือข่ายสังคม ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ฯลฯ
bitcoin บิตคอยน์
ชื่อสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่งซึ่งใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน
blockchain บล็อกเชน
วิธีการเก็บข้อมูลรายการเปลี่ยนแปลงตามหลักการทางบัญชี โดยการเข้ารหัสและจัดเรียงข้อมูลเหล่านี้ต่อกันตามลำดับเวลาที่ข้อมูลเข้ามา กลุ่มข้อมูลดังกล่าวจะเผยแพร่ไปให้ผู้ใช้ในเครือข่ายที่กำหนดได้ทราบทั่วกัน ทั้งนี้ ผู้ใช้ทุกคนจะทราบการแก้ไขเพิ่มเติมรายการเปลี่ยนแปลงในบล็อกเชนทุกรายการตลอดเวลา
cryptocurrency เงินตราเข้ารหัสลับ, คริปโทเคอร์เรนซี
สินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม ซึ่งใช้วิทยาการเข้ารหัสลับสำหรับรับประกันความถูกต้องของธุรกรรมนั้น เพื่อควบคุมการสร้างหน่วยเงินดิจิทัลเพิ่ม และเพื่อยืนยันความถูกต้องของการโอนสินทรัพย์ เป็นเงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ควบคุมโดยกระจายศูนย์กลางผ่านบล็อกเชน
data analytics วิทยาการวิเคราะห์ข้อมูล
ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูล โดยนำข้อมูลมาประมวลผลด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การจำแนกกลุ่ม การดำเนินการทางสถิติ การวิเคราะห์แนวโน้ม การค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะประจำของข้อมูล ซึ่งอาจจะไม่ปรากฏชัดเจนนัก
data science วิทยาการข้อมูล
สหวิทยาการซึ่งประกอบด้วยวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ สถิติ และสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
digital disruption การเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัล
การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะที่ก้าวหน้าขึ้น จนอาจถึงขั้นไม่ต้องใช้แรงงานคน มักเป็นการเปลี่ยนอย่างทันทีทันใดจนทำให้รูปแบบการทำงานแบบเดิมต้องยุติลง เช่น การใช้หุ่นยนต์ทำงานซ้ำซากแทนแรงงานคน การถ่ายภาพที่ใช้ฟิลม์มาเป็นการใช้กล้องดิจิทัลซึ่งบันทึกภาพเป็นข้อมูลทันที การทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ มีความสามารถในการตัดสินใจเองโดยใช้หลักการปัญญาประดิษฐ์
digital literacy การรู้ดิจิทัล, ความฉลาดรู้เรื่องดิจิทัล
ความรู้ความสามารถในการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี
digital transformation การแปลงเป็นดิจิทัล
การเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงานจากระบบที่ใช้แรงงานคนไปสู่การใช้ระบบดิจิทัลหรือระบบอัตโนมัติ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและต้นทุน
drone (dynamic remotely operated navigation equipment) โดรน
ยานที่ควบคุมจากระยะไกลให้เคลื่อนที่ได้โดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นยานทางอากาศโดยทั่วไปมีรูปแบบเป็นอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยใบพัดหมุนหลายใบ นิยมใช้ในงานต่าง ๆ เช่น การสำรวจ การเกษตร ถ้าเป็นขนาดใหญ่อาจมีลักษณะเหมือนเครื่องบินที่ไม่มีคนขับ ถ้าเป็นยานทางน้ำอาจเป็นโดรนที่แล่นบนผิวน้ำหรือใต้น้ำ และถ้าเป็นยานทางบกอาจมีลักษณะคล้ายรถ
fourth generation (4G) ยุคที่สี่ (สี่จี)
ยุคที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใหม่ซึ่งแตกต่างไปจากยุคที่สาม (สามจี) อย่างมาก โดยมีวัตถุประสงค์คือ การให้บริการด้วยความเร็วสูง ให้บริการผู้ใช้หลายคนในเวลาเดียวกันได้เป็นจำนวนมาก มีคุณภาพและมีความปลอดภัยสูง มีต้นทุนต่ำกว่าการให้บริการข้อมูลและเสียง ความเร็วสูงสุดของการสื่อสารข้อมูลในขณะเคลื่อนที่อยู่ที่ 100 เมกะบิตต่อวินาที และความเร็วสูงสุดของการสื่อสารข้อมูลในขณะที่เคลื่อนที่ช้าหรือเดินอยู่อยู่ที่ 1000 เมกะบิตต่อวินาที
fifth generation (5G) ยุคที่ห้า (ห้าจี)
ยุคที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อให้สื่อสารข้อมูลได้รวดเร็วกว่าและรองรับผู้ใช้งานได้มากกว่ายุคที่สี่ (สี่จี) โดยความเร็วสูงสุดของการสื่อสารข้อมูลเท่ากับ 35.46 กิกะบิตต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่ายุคที่สี่ (สี่จี) ถึง 35 เท่า
infographics อินโฟกราฟิกส์
ภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือสื่อประสมที่นำเสนอข้อมูลสำคัญในพื้นที่ที่จำกัด โดยใช้รูปแบบทางศิลปะส่งผ่านข้อมูลให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความสนุกสนานและเข้าใจได้ดีกว่าการแสดงด้วยข้อความธรรมดา เช่น กราฟหรือแผนภูมินำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการแสดงภาพเป็นเรื่องราว มีลำดับขั้นตอน มีการเน้นประเด็นด้วยสีสันชวนมองสะดุดตาและเข้าใจง่าย
phishing ฟิชชิง
อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่หลอกลวงผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลหรือสั่งให้โปรแกรมที่ผู้หลอกลวงซ่อนไว้เริ่มทำงาน เช่น การหลอกลวงให้เข้าเว็บไซต์ปลอมที่ทำเลียนแบบเว็บไซต์จริง โดยหลอกให้ผู้ใช้กรอกข้อมูลสำคัญส่วนบุคคล
unmanned aerial vehicle (UAV) อากาศยานไร้คนขับ (ยูเอวี)
อากาศยานที่ควบคุมจากระยะไกลให้เคลื่อนที่โดยอัตโนมัติและไม่มีคนขับ
virtual reality (VR) ความเป็นจริงเสมือน (วีอาร์)
สภาวะจำลองที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อให้เหมือนสภาวะจริง ซึ่งผู้ใช้สามารถมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสภาวะจำลองนี้ได้ เช่น การจำลองสภาพเรือนไทยเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าไปดูห้องต่าง ๆ ภายในได้เสมือนกับเข้าไปดูจริง ๆ
artificial neural network (ANN) (เครือข่ายประสาทประดิษฐ์ (เอเอ็นเอ็น)
กลุ่มของฟังก์ชันคณิตศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันเพื่อเลียนแบบการทำงานของเครือข่ายเซลล์ประสาท โดยเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์จะแทนด้วยฟังก์ชันคณิตศาสตร์ 1ฟังก์ชัน เครือข่ายประสาทประดิษฐ์มักประยุกต์ใช้ในการจับกลุ่ม การประมาณฟังก์ชัน หรือการรู้จำแบบ [มีความหมายเหมือนกับ neural network]
deep learning (การเรียนรู้เชิงลึก)
การทำให้เครื่องเรียนรู้เรื่องต่างๆ โดยใช้ขั้นตอนวิธีต่าง ๆ เช่น เครือข่ายประสาทประดิษฐ์ (เอเอ็นเอ็น) และอาจใช้วิธีการทั้งที่เป็นแบบมีการแนะนำ กึ่งแนะนำ หรือไม่ต้องแนะนำ ให้เครื่องได้เรียนรู้จากข้อมูลต่าง ๆ ที่มีให้ การเรียนรู้นี้ใช้วิธีการสร้างความเข้าใจให้แก่เครื่องเป็นลำดับชั้นจำนวนมาก ตั้งแต่ไม่ละเอียดไปถึงละเอียด
ergonomics (การยศาสตร์)
การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำงานกับสภาพแวดล้อมของการทำงาน และพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสม เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การออกแบบเมาส์ให้เหมาะกับสรีระมนุษย์
subscriber (ผู้เช่า, ผู้รับบริการ, สมาชิก)
1. ผู้เช่า : ผู้ชำระเงินเพื่อใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ใช้คู่สายโทรศัพท์ ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต
2. ผู้รับบริการ : ผู้ใช้บริการต่าง ๆ เช่น ซอฟต์แวร์ ซึ่งอาจจะมีค่าบริการหรือไม่ก็ได้
3. สมาชิก : ผู้ลงทะเบียนเพื่อบอกรับสื่อชนิดต่าง ๆ เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ฐานข้อมูล เนื้อหาในเว็บไซต์ยูทูบ (YouTube)
vlog (วีล็อก, วล็อก)
1. บล็อกที่มีเนื้อหาเป็นวีดิทัศน์ คำนี้มาจาก video blog หรือ video log
2. เนื้อหาที่บันทึกความคิด ความเห็น หรือประสบการณ์เป็นวีดิทัศน์และเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต หมายเหตุ : คนไทยนิยมออกเสียงคำนี้ว่า วี-ล็อก ส่วนเจ้าของภาษาออกเป็นเสียงควบกล้ำว่า วล็อก
Metaverse จักรวาลนฤมิต , เมตาเวิร์ส
เป็นเหมือนกับ “โลกเสมือนจริง” ที่ทุกคนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมในโลกนั้นได้ โดยการเข้าสู่โลก Metaverse ก็จะต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนกิจกรรมที่สามารถทำได้ก็เช่น การดูหนัง ทำงาน ประชุม ไปคอนเสิร์ต การเดินทางไปที่ต่างๆ โดยที่เราไม่ต้องไปยังสถานที่นั้น จะไปเจอใครก็ทำได้หมดทุกที่ แม้ตัวเราจริง ๆ จะนั่งอยู่ที่บ้านก็ตาม
ทั้งหมดนี้คำศัพท์ด้านคอมพิวเตอร์และไอทีจากราชบัณฑิตยสภา แต่น่าจะยังไม่หมดเท่านี้ยังมีศัพท์อื่นๆที่หลายท่านอาจยังไม่รู้ความหมายหรือไม่รู้ว่ามีคำไทยด้วย รอติตดามกันต่อไป
อ้างอิง สำนักราชบัณฑิตยสภา
——————————————————————————————————————————————–
ที่มา : iT24Hrs-MS / วันที่เผยแพร่ 13 ธ.ค.64
Link : https://www.it24hrs.com/2021/computer-it-vocabulary-in-thai-office-of-the-royal-society/