นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมวันที่ 1 พ.ย 62-23 ธ.ค.64 พบมีผู้โพสต์ข่าวปลอม 1,167,543 คน และแชร์ข่าวปลอม 23,785,145 คน โดยช่วงอายุของผู้โพสต์และแชร์มากที่สุด คือ 18-24 ปี สัดส่วน 54.5% ขณะที่อายุ 55-64 ปี แพร่กระจายข่าวปลอมต่ำสุด สัดส่วน 0.1% สำหรับกลุ่มอาชีพที่เผยแพร่ข่าวปลอมมากสุด 3 อันดับแรกคือ ผู้สื่อข่าว เกือบ 16.7% รองลงมาคือผู้จัดการ/ผู้บริหาร 9.3% และผู้ประกอบกิจการต่างๆ 8% ขณะที่กลุ่มอาชีพของผู้แชร์ข่าวที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมมากสุด 3 อันดับแรกคือ อาชีพครู อาจารย์ 14.0% ตามด้วยนักเรียน นักศึกษา และช่างภาพ 9.4% และกลุ่มอาชีพวิศวกร 7.0%
โดยในรอบปี 64 สำนักข่าว และ Influencer ที่ช่วยเผยแพร่ข่าวจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมากสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ไทยรัฐ , จส.100 , มติชน , บางกอกโพสต์ , FM91 Trafficpro , ข่าวจริงประเทศไทย , ฐานเศรษฐกิจ , News.ch 7, โพสต์ทูเดย์ และคมชัดลึก ขณะที่ผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่า มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 455,121,428 ข้อความ หลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องตรวจสอบ 13,262 เรื่อง เป็นหมวดหมู่สุขภาพ 6,855 เรื่อง หมวดหมู่นโยบายรัฐ 5,865 เรื่อง หมวดหมู่เศรษฐกิจ 282 เรื่อง และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 260 เรื่อง
ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปี 65 การแก้ปัญหาข่าวปลอม (เฟกนิวส์) จะเพิ่มความเข้มข้นจากการบังคับใช้ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องมาจดแจ้งแสดงตัวตน ป้องกันการหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์และแก้ปัญหาเฟกนิวส์ได้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยปี 64 ดีอีเอสลดเฟกนิวส์ได้กว่า 50% อีกทั้งจะนำร่องปูพรมบริการฟรีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงการอินเตอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน โดยตั้งเป้าเพิ่มไม่น้อยกว่า 8,246 แห่งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล โดยเฉพาะชุมชนแออัด
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 28 ธ.ค.2564
Link : https://www.thairath.co.th/business/other/2275001