#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เร่งผลักดันเยาวชนคนรุ่นใหม่หัวใจอาสาเป็น Youtuber, Net Idol ด้านดิจิทัลในชุมชน เสริมทัพเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล ประจำหมู่บ้าน หวังสร้างเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับพื้นที่ สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน และปลอดภัย
สืบเนื่องจากปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ที่แพร่กระจายตามพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตของประชาชน ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การขาดความรู้ความเข้าใจของผู้ใช้งานโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้เกิดเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย
จากข้อมูลการเข้าร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท) แนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี พ.ศ. 2565 เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสถิติการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564 พบว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้
อันดับ 1 คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท
รองลงมาคือ การแฮก เพื่อปรับเปลี่ยนหรือขโมยหรือทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ ความเสียหายรวมประมาณ 67 ล้านบาท
อันดับ 3 คือ การหลอกขายสินค้าบริการ ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท
อันดับ 4 คือ การหลอกเกี่ยวกับความรัก (Romance scam) และ
อันดับ 5 คือ การข่มขู่ (Black mail) ตามลำดับ
“อสด. ความหวังของหมู่บ้านด้านเทคโนโลยี” กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ที่จะสามารถเป็นผู้เผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ด้านดิจิทัล เป็นสื่อกลางในทำความเข้าใจและกลั่นกรองข้อมูลผ่านงานโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตในชุมชน เน้นการพัฒนาสมรรถนะด้านดิจิทัลต่างๆ ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ต่อยอดโครงการเน็ตประชารัฐ และโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน
อีกทั้ง อสด. อาจจะช่วยในภารกิจอื่นๆ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนและยกระดับกิจกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับหมู่บ้านและชุมชนต่อไป เช่น การประชาสัมพันธ์และการตลาดสำหรับสินค้าท้องถิ่น การฝึกอบรมและการศึกษา เป็นต้น
จากรายละเอียดข้อมูลโครงการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัลระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาสามารถพัฒนา อสด. ประจำหมู่บ้านต่อเนื่องเป็นเครือข่ายรวมกว่า 1,000 คนแล้ว โดยพัฒนาหลักสูตรการพัฒนา อสด.ในรูปแบบ e-Learning และคัดเลือกตัวแทนเครือข่าย อสด. ที่ผ่านการอบรม e-Learning ของแต่ละจังหวัดตามหลักเกณฑ์มาเข้ารับการอบรมพัฒนาให้เป็น อสด. ประจำหมู่บ้าน
“การทำงานรูปแบบระบบอาสาสมัครได้ผลในสังคมไทย” ไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครจราจร อาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อาสาสมัครมูลนิธิต่างๆ เป็นต้น ล้วนเป็นรูปแบบการทำงานที่ช่วยแบ่งเบางานภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผนวกกับการนำเรื่อง “การสร้างจิตสาธารณะ” เป็นฐาน ระบบอาสาสมัครจึงมีอยู่เกือบทุกกระทรวง รวมถึงกระทรวงดิจิทัลฯ ภายใต้แนวทางการพัฒนางานอาสาสมัครไทยซึ่งเสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯ
อาสาสมัครดิจิทัลจึงเป็นอีกรูปแบบการทำงานที่จะช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างวัยที่มีอยู่หมู่บ้านและชุมชนให้ตามทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว พร้อมทั้งช่วยพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีแก่เด็กและผู้สูงอายุในพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ได้จริงของชีวิตประจำวัน และเป็นอีกหนึ่งพลังที่สำคัญช่วยกรองข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์บนพื้นฐานความเป็นจริงให้แก่ชุมชน และลดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
——————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ช่อง 7 สี / วันที่เผยแพร่ 15 มี.ค.65
Link : https://news.ch7.com/detail/556456