นอกจากหน่วยลอบสังหารแล้ว รัสเซียยังมีไม้ตายอย่างหน่วยสายลับ GRU ที่คอยล้วงความลับของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
เมื่อเร็วๆ นี้ สื่อเชิงสืบสวนสอบสวนของรัสเซีย 2 กลุ่มคือ Agentura.ru และ Bellingcat รายงานว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ปลดหน่วยสายลับ FSB (หน่วยข่าวกรองหลักของรัสเซียที่เปลี่ยนชื่อมาจาก KGB) จากหน้าที่ในการหาข่าวในยูเครน แล้วแต่งตั้งให้หน่วย GRU ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองทางทหารมารับหน้าที่นี้แทน เนื่องจาก FSB ทำหน้าที่ล้มเหลว
1.หน่วย GRU ถูกก่อตั้ง โดย โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียต เมื่อปี 1942 ไม่ถึงปีหลังจากนาซีเยอรมันบุกสหภาพโซเวียต ในช่วงพีคของสงครามโลกครั้งที่ 2 GRU ได้รับมอบหมายให้สอดแนมเยอรมนีและพันธมิตร และในช่วงสงครามเย็นมีผลงานที่โดดเด่นคือ การแทรกซึมเข้าไปล้วงข้อมูลโครงการระเบิดปรมาณูของอังกฤษ
2.รายงานต่อสภาคองเกรสของสหรัฐบรรยายถึง GRU ไว้ว่า เป็นองค์กร “ขนาดใหญ่ กว้างขวาง และทรงพลัง” แต่ไม่ค่อยมีใครทราบเกี่ยวกับขนาดและการดำเนินงานของ GRU
3.GRU โดดเด่นกว่าหน่วยสายลับอื่นๆ ของรัสเซียในด้านความสมัครใจในการปฏิบัติงานที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง ทั้งยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับขบวนการปฏิวัติและกลุ่มก่อการร้าย มีประสบการณ์ในการใช้อาวุธและระเบิด รวมทั้งผ่านการฝึกสุดโหดมาแล้ว
4.GRU แบ่งเป็นหลายหน่วยย่อย อาทิ หน่วย 29155 มีหน้าที่ลอบสังหารและทำภารกิจอื่นที่เป็นความลับโดยมีเป้าหมายเพื่อสั่นคลอนในประเทศแถบยุโรป คาดว่าหน่วยนี้ปฏิบัติการอย่างลับๆ มาตั้งแต่ปี 2008 เป็นอย่างน้อย แต่การมีอยู่ของหน่วยนี้เพิ่งจะเปิดเผยต่อสาธารณะในปี 2019
5.หน่วย 54777 หรือศูนย์ปฏิบัติการพิเศษที่ 72 เป็นหน่วยด้านสงครามจิตวิทยา หน่วย 26165 หรือแฟนซีแบร์ รับหน้าที่ปฏิบัติการทางไซเบอร์และแฮกข้อมูล ทางการเนเธอร์แลนด์กล่าวหาว่าหน่วยนี้เกี่ยวข้องกับการแฮกองค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี (OPWC) เมื่อปี 2018 และหน่วย 74455 เป็นหน่วยที่ใช้ข้อมูลระบุตัวตนออนไลน์ปลอม (DCLeaks และ Guccifer 2.0) เพื่อประสานงานการเปิดเผยเอกสารที่ขโมยมาที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองกับวิกิลีกส์เพื่อให้เกิด “ผลกระทบทางการเมืองสูงสุด”
6.เอกสารการประเมิน GRU ของตะวันตกที่สำนักข่าว Reuters ได้เห็นเมื่อปี 2018 ระบุว่า GRU วางสายลับที่ผิดกฎหมายมานานหลายปี เช่น คนที่ทำงานโดยไม่ได้รับความคุ้มครองทางการทูต และคนที่อาศัยอยู่ภายใต้การปลอมตัวในต่างประเทศ การประเมินระบุว่า “มันมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการพัฒนาสงครามสารสนเทศของรัสเซีย (ทั้งการป้องกันและเชิงรุก) เป็นองค์กรที่ห้าวหาญและได้รับการสนับสนุนอย่างดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยตรงและเข้าถึง (ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์) ปูติน ทำให้มีอิสระในการปฏิบัติงาน และได้รับการผ่อนผันสำหรับการตรวจสอบทางการทูตและทางกฎหมาย
7.GRU ตระเวณลงมือทั่วโลก อาทิ ในสหราชอาณาจักร: ปี 2018 ทางการสหราชอาณาจักรระบุชื่อชาวรัสเซีย 2 คนคือ อเล็กซานเดอร์ เปตรอฟ และรุสลัน บอชิรอฟ (ชื่อที่ทั้งสองคนใช้เข้าสหราชอาณาจักร) เป็นผู้ต้องสงสัยในการพยายามลงมือสังหาร เซอร์เก สกรีปาล อดีตสายลับ GRU และลูกสาวเมื่อเดือน มี.ค. 2018
8.ทางการตามรอยผู้ต้องสงสัยขณะอยู่ในสหราชอาณาจักร 48 ชั่วโมงเพื่อลงมือ ตั้งแต่การมาถึงสนามบินแกตวิก การเดินทางไปเมืองซอลส์บรี 1 วันก่อนลงมือ การเดินทางในวันลงมือ จนกระทั่งการเดินทางกลับมอสโกจากสนามบินฮีทโธรว์ ทั้งยังพบสารพิษโนวิโช้ค (Novichok) ในห้องพักของผู้ต้องสงสัย การสอบสวนเชิงลึกต่อมาพบว่าตัวจริงของบอชิรอฟคือ อนาโตลี ชิปิกา เจ้าหน้าที่ GRU
9.เนเธอร์แลนด์: ปีเดียวกับการลงมือที่ซอลส์บรี เจ้าหน้าที่ GRU 4 นายถูกจับได้คาหนังคาเขาขณะกำลังแฮกเครือข่าวไวไฟขององค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี (OPWC) ที่ควบคุมดูแลอาวุธเคมี ซึ่งในขณะนั้นกำลังตรวจสอบสารพิษที่ใช้กับสกรีปาลและการใช้อาวุธเคมีโจมตีในซีเรีย
10.ส่วนในสหรัฐนั้นเจ้าหน้าที่ GRU หลายนายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016, หน่วย 26165 และหน่วย 74455 ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ DCLeaks และถูกตั้งข้อหาฐานเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 500,000 คนจากเว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้งและอีเมลของ ฮิลลารี คลินตัน และจากข้อมูลที่ เรียลิตี วินเนอร์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองของสหรัฐนำมาเปิดเผยพบว่า GRU พยายามแฮกบริษัทผลิตเครื่องลงคะแนนเสียง VR System
11.ฝรั่งเศส: เดือน ธ.ค. 2019 หนังสือพิมพ์ Le Monde รายงานว่า การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานข่าวกรองของอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหรัฐพบฐานของ GRU ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการลับทั่วยุโรป โดยสามารถระบุตัวสายลับได้ 15 คนโดยทั้งหมดอยู่ในหน่วย 29155 ของ GRU ที่เดินทางเข้าเขตโอต์ซาวัวร์ของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2014-2018 รวมทั้งอเล็กซานเดอร์ เปตรอฟ และรุสลาน บอริชอฟ ที่ลงมือวางยาสกรีปาลเมื่อปี 2018 ที่อังกฤษด้วย
12.จะเห็นว่าการลงมือแต่ละครั้งของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ล้วนทิ้งร่องรอยไว้จนถูกตามตัวได้ แต่รัสเซียก็ไม่ได้เกรงกลัว ซึ่งมาร์ก กาเลอ็อตติ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเผยกับ BBC ว่า “GRU ลงมือบ่อยมาก และเลี่ยงไม่ได้ที่บางปฏิบัติการจะพลาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาโง่ เห็นได้ชัดว่าแนวทางที่พวกเขาได้รับมาคือ ถ้ายังอยู่ในขอบเขตก็ไม่เป็นไร และอย่างกังวลกับผลลัพธ์จนเกินไป”
Photo by HO / Metropolitan Police Service / AFP
***หมายเหตุ ภาพประกอบคือ อเล็กซานเดอร์ เปตรอฟ (ขวา) และรุสลาน บอชิรอฟ ที่สถานีรถไฟในซอลส์บรีของอังกฤษเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2018
——————————————————————————————————————————————————
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 11 พ.ค.65
Link : https://www.posttoday.com/world/682781