เริ่มแล้ว! “PDPA” หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 บังคับใช้วันนี้วันแรก (1 มิ.ย.65) แต่ยังมีหลายกรณีที่ประชาชนสับสน หนึ่งในนั้นคือกรณี “กล้องวงจรปิด” และ “กล้องหน้ารถ” หากถ่ายติดภาพผู้อื่นโดยไม่ยินยอม จะผิด “กฎหมาย PDPA” หรือไม่?
แม้ว่าก่อนหน้านี้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม จะออกมาชี้แจงแล้วว่า เจตนาของการบังคับใช้ “กฎหมาย PDPA” มุ่งคุ้มครองข้อมูล-สิทธิ์ ประชาชน ไม่ใช่การนำมาจับผิด หากมีการถ่ายรูป-โพสต์รูป แล้วติดใบหน้าผู้อื่นมา หากไม่เกิดความเสียหายต่อเจ้าตัว ก็สามารถทำได้
แต่ทั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ประชาชนยังมีข้อสงสัย นั่นคือ กรณีติด “กล้องวงจรปิด” และ “กล้องหน้ารถ” หากมีการถ่ายติดผู้อื่นมาโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม จะผิดกฎหมาย PDPA หรือไม่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปหาคำตอบเรื่องนี้พร้อมกัน
PDPA คืออะไร เป็นข้อมูลแบบไหน?
PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act ซึ่งหมายถึง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่มีขึ้นเพื่อให้ภาคเอกชนและภาครัฐ (บุคคล/นิติบุคคล) ที่เก็บรวมรวม ใช้ เปิดเผย และ/หรือ โอนข้อมูลส่วนบุคคลในไทยให้เป็นไปตามมาตรการปกป้องข้อมูลของผู้อื่นจากการถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว
โดยหลักเกณฑ์หลักๆ คือต้องขอความยินยอมจาก “เจ้าของข้อมูล” ก่อนการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลเสมอ สำหรับข้อมูลส่วนบุคคล ตามกรอบ “กฎหมาย PDPA หมายถึง” ข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลที่ทำให้ระบุตัวบุคคลได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น
– เลขประจำตัวประชาชน ชื่อ-นามสกุล
– ที่อยู่
– เบอร์โทรศัพท์
– อีเมล
– ข้อมูลทางการเงิน
– เชื้อชาติ
– ศาสนาหรือปรัชญา
– พฤติกรรมทางเพศ
– ประวัติอาชญากรรม
– ข้อมูลสุขภาพ
ทั้งนี้ ข้อมูลคนตาย ข้อมูลนิติบุคคล ไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายฉบับนี้
– กรณี “กล้องวงจรปิด” แบบไหนไม่ผิดกฎหมาย PDPA ?
กล้องวงจรปิด CCTV มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วยการจับภาพเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักถ่ายติดภาพบุคคลทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลในรูปของข้อมูลทางชีวภาพตามคำนิยามของ PDPA หรือ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลคุ้มครอง จึงจำเป็นต้องขออนุญาตบุคคลอื่นก่อนถ่าย
ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงาน องค์กร หรือร้านค้า ที่มีการติดกล้องวงจรปิด สามารถขอความยินยอมได้โดยอัตโนมัติ ด้วยการ “ติดประกาศ” หรือสติกเกอร์ ที่แจ้งให้บุคคลที่จะเข้ามาในสถานที่ทราบว่ามีการบันทึกและติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV
อีกหนึ่งกรณีที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย PDPA นั่นคือ การใช้กล้องวงจรปิด เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัว ในการป้องกันอาชญากรรม และใช้งานด้านความปลอดภัย ก็ไม่ต้องติดป้ายเตือนใดๆ
เนื่องจากกรณีนี้ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. ตามที่มาตรา 4(1) ที่บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น
สรุปคือ หากติดกล้องวงจรปิดที่บ้าน สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด และไม่จำเป็นต้องติดป้ายแจ้งเตือนใดๆ ทั้งสิ้น
– กรณี “กล้องหน้ารถ” ถ่ายติดคนอื่น ผิด PDPA ไหม?
ส่วนประเด็น “กล้องหน้ารถ” ที่บางครั้งอาจถ่ายติดผู้อื่นมาโดยไม่ตั้งใจนั้น หลายคนกังวลว่าอาจผิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กรณีนี้ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เปิดเผยผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ระบุว่า
“กล้องหน้ารถ” ประชาชนสามารถติดตั้งได้โดยที่ไม่ต้องแจ้งให้ใครทราบว่ารถของเรามีกล้อง แต่ให้ระมัดระวังในการใช้ภาพจากกล้อง เนื่องจากอาจจะมีปัญหาได้ หากมีการนำเนื้อหาในกล้องเฉพาะข้อมูลบางส่วนไปใช้เพื่อสร้างความเสียหาย อับอาย ให้แก่บุคคลที่ปรากฏในภาพ หรือนำไปใช้เพื่อการค้า หารายได้ หรือนำไปใช้กรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพื่อส่วนตัว แบบนี้จะผิดกฎหมายทันที
ส่อง “บทลงโทษ” ตามกฎหมาย PDPA
1. การกระทำใดๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล มาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท
2. การเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว โดยไม่ได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง และน่าจะทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย มาตรา 79 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท
3. การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม และน่าจะทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย มาตรา 79 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
4. ถ้าผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยไม่ได้รับความยินยอม มีความผิดมาตรา 79 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท
5. การกระทำใดๆ กับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้ผ่านการขอความยินยอมตามรูปแบบที่ถูกต้อง รวมถึงไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์ รายละเอียด และแจ้งสิทธิของเจ้าของข้อมูลมาตรา 82 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท
6. การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากแหล่งอื่นที่ไม่ได้จากเจ้าของข้อมูลโดยตรง โดยไม่มีข้อยกเว้นให้เก็บข้อมูลได้ มาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 1 มิ.ย.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/social/1007596