ผลสำรวจดัชนีดิจิทัลพบคนไทยเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต 85% แต่ต้องการนโยบายฟรีอินเทอร์เน็ตมากที่สุด ขณะที่สัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากภาคธุรกิจดิจิทัลโตไม่ถึง 1% มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมไอซีทีต่อจีดีพีคิดเป็น 3.32%
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผลการศึกษาโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ.2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงดีอีเอส ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ดำเนินการจัดเก็บ รวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดและสถิติด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พบว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 85% โดยกลุ่มผู้ใช้งานหลัก ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานเอกชน นักศึกษา
แม้ว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่นโยบายที่ประชาชนต้องการมากที่สุด คือ บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีค่าใช้จ่าย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึง และการสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกัน พบว่า 78.83% ของธุรกิจไทยมีการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เริ่มบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ส่วนหน่วยงานบริการปฐมภูมิทั่วประเทศ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล มีการใช้งานและติดตั้งอินเทอร์เน็ต สำหรับใช้งานในองค์กร ติดต่อสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและให้บริการออนไลน์ 95.17%
นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนไทยเกินกว่าครึ่งมีทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและรองรับต่อการทำงานในยุคดิจิทัลและจะต้องเตรียมความพร้อมได้รับการพัฒนาในทักษะที่รองรับต่ออนาคต เช่น การเขียนโปรแกรม (Coding) หรือการสร้างเว็บไซต์ และปัญหาจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข
สำหรับโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook เป็นการดำเนินการต่อเนื่องของ สดช. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 โดยในปี พ.ศ.2565 นี้ นับเป็นปีที่ 4 ซึ่ง สดช. ได้ศึกษาตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศ อ้างอิงตามกรอบมาตรฐานสากลที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือองค์การ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) กำหนดไว้ จำนวน 85 ตัวชี้วัด ครอบคลุม 8 มิติเชิงนโยบาย และดำเนินการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดดังกล่าวผ่านการสำรวจด้วยแบบสอบถาม 3 กลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคประชาชนภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานบริการปฐมภูมิ เช่น โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และอาศัยข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาใช้ประกอบการศึกษาในปีนี้
อย่างไรก็ตาม การสำรวจพบว่า ตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้นในทุกมิติ ได้แก่ มิติการเข้าถึง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 88.0% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีการเข้าถึง 85.2% มิติการใช้งาน สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทย 85.0% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (84.3%) มิติสังคม สัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุ ช่วง 55-74 ปี ในปี พ.ศ.2565 คิดเป็น 63.1% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่แค่เพียง 48.8% มิติความน่าเชื่อถือพบว่า ผู้ประสบปัญหาถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล/ความเป็นส่วนตัว เท่ากับ 3.4% ดีขึ้น จากปี 2564 ซึ่งเคยมีค่าอยู่ที่ 6.3%
มิติการเปิดเสรีของตลาด สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้า/บริการผ่านทางออนไลน์ไปตลาดต่างประเทศ ปี 2565 สูงถึง 26.3% เทียบกับปี 2564 ที่อยู่แค่ 3.2% มิติการเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ สัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจดิจิทัล ปี 2564 คิดเป็น 50.90% ของภาคอุตสาหกรรม ค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีตัวเลขเท่ากับ 50.86% โดยตัวชี้วัดปี 2564 ที่มีค่าคงที่เท่ากับปี 2563 ได้แก่ มิติด้านนวัตกรรม มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมไอซีทีต่อจีดีพี คิดเป็น 3.32% และมิติอาชีพ สัดส่วนการจ้างงานของธุรกิจดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทย คิดเป็น 34.4%
ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การดำเนินโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ.2565 นี้ สดช. ได้สำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ครอบคลุมตัวชี้วัดตามกรอบ Digital Economy Outlook ของ OECD ตลอดจนศึกษาเพิ่มเติมในกรอบตัวชี้วัดที่สะท้อนบริบทของประเทศไทย อันจะช่วยให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่สะท้อนภาพ Thailand Digital Outlook ที่เด่นชัด เห็นถึงจุดเด่นของการพัฒนาด้านดิจิทัลที่ประเทศไทยมีข้อมูลเปรียบเทียบกับนานาประเทศ ทราบถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดที่จะต้องเร่งเข้าไปแก้ไข เพื่อขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นฐานข้อมูลตัวชี้วัดด้านดิจิทัลสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 28 ส.ค.65
Link : https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9650000081961