ครม.ไฟเขียว “โรคอารมณ์ผิดปกติ” ต้องห้ามรับราชการพลเรือน ชี้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ ยกเลิกโรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ ออกจากลักษณะต้องห้าม
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เสนอ ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ.2553 ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน ในการแก้ไขครั้งนี้ ได้ยกเลิก “โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ” ออกจากลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน เนื่องจากโรควัณโรคมีแนวโน้มที่ลดลง และใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็สามารถหายได้
พร้อมกันนี้ ได้เพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรัง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ เป็นลักษณะต้องห้ามด้วย ส่วนโรคอื่นๆ ยังคงกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามตามเดิม ได้แก่
1. โรคเท้าช้าง ในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
2. โรคติดยาเสพติดให้โทษ
3. โรคพิษสุราเรื้อรัง
4. โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง ที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
ทั้งนี้ มีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
Mood Disorders คืออะไร
ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า โรคทางอารมณ์ (mood disorders) เป็นกลุ่มโรคหนึ่งทางจิตเวชที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยและรบกวนชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวมาก
อาการของโรคทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะซึมเศร้าหรือครึกครื้น โดยอาจเป็นอารมณ์ในลักษณะใด ลักษณะหนึ่งหรือเกิดสลับกัน ขึ้นกับชนิดของโรค เมื่อมีอาการแล้วทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจัดการ หรือรับผิดชอบงานได้เหมือนปกติ
ลักษณะการดำเนินโรคที่สำคัญ คือ อาการมักเกิดเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงเป็นนาน 1-6 เดือน ขึ้นกับชนิดของโรค และมักเกิดอาการได้หลาย ๆ ครั้งในตลอดช่วงชีวิตของผู้ป่วย อาการอาจหายได้เองหรืออาจมีอาการเรื้อรังได้ การวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว และการรักษาที่เหมาะสมเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดระยะเวลาของการเป็นโรคและลดโอกาสเป็นซ้ำได้
ลักษณะสำคัญของผู้ป่วยที่เป็นโรคทางอารมณ์ (mood disorders) คือ ภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างมากและเป็นต่อเนื่อง โดยพบเป็น 2 กลุ่มอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ซึมเศร้า (depression) หรืออารมณ์ครึกครื้น หรือที่นิยมเรียกว่ากลุ่มแมเนีย (mania)
– ผู้ป่วยกลุ่มอารมณ์ซึมเศร้า (depressive patients) มีอารมณ์เศร้า (depressed affect), หงุดหงิด (irritable affect) ร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ ความกระตือรือร้นหรือความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ลดน้อยลง (lose of interests), ลักษณะเฉื่อยชา (loss of energy), อาจมีความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง (hopeless), รู้สึกผิด ละอาย (guilt) บางคนมีอาการมากจนถึงขั้นคิดสั้น อยากตาย (suicidal idea) ร่วมกับอาการ neurovegetative ต่าง ๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ฯลฯ
– ผู้ป่วยกลุ่ม mania (manic patients) มีอารมณ์ดีเบิกบานมาก รื่นเริง ครึกครื้น (elated หรือ elevated affect) หรือบางครั้งอาจมีลักษณะหงุดหงิดง่าย (irritable affect) ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ความคิดมักจะเร็วขึ้น คิดหลาย ๆ เรื่องในเวลาไล่เลี่ยกัน (racing thoughts) และแสดงออกมาในลักษณะพูดมากขึ้น (talkative) พูดหลายเรื่องต่อกัน (flight of ideas) อาจมีลักษณะวอกแวกง่าย ถูกดึงความสนใจได้ง่าย (distractibility) ทำให้ดูเหมือนขาดความตั้งใจ สมาธิไม่ดี
นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอารมณ์ดี ครึกครื้น และมีอาการลักษณะเดียวกับกลุ่ม mania เพียงแต่มีอาการในระยะเวลาที่สั้นกว่า จึงเรียกระยะนั้นว่า hypomania เรียกผู้ป่วยในระยะนั้นว่า hypomanic patients เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางอารมณ์ใน 2 กลุ่มอาการนี้ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาในเรื่องบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปอย่างมาก มีผลต่อการพูดคุย ติดต่อ หรือสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น มีผลต่อความคิด ความสนใจรับผิดชอบในการทำงาน อาการส่วนใหญ่มักเป็นต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง จึงทำให้กระทบต่อกิจวัตรประจำวันอย่างมาก
———————————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 20 ก.ย.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1027876