หลากหลายอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาทางโซเชียลฯ ดรามาสนั่น “สื่อต่างชาติ” บุกถ่ายจุดกราดยิงหนองบัวลําภู ตอกย้ำความเจ็บปวด ทั่วโลกจับตามอง การทำงานของเจ้าหน้าที่ ด้านนักอาชญาวิทยาสะท้อนไร้มาตรฐานความปลอดภัย-การเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุอาชญากรรม!?
เจตนาดี-รุกล้ำพื้นที่เกิดอาชญากรรม?
ยังคงเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจ และสร้างความสะเทือนใจของทั่วมุมโลก กับเหตุการณ์อาชญานาฏกรรม “กราดยิงหนองบัวลำภู” อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหา จนสังคมวิจารณ์กัน คือ การทำหน้าที่เสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่อาจมีความสุ่มเสี่ยง ตอกย้ำแผลในใจครอบครัวผู้เสียชีวิต
ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุด พบ ผู้สื่อข่าว CNN (สำนักข่าวต่างประเทศ) เข้าไปนำเสนอข่าวข้างในอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่เกิดเหตุได้ ทั้งที่ด้านนอกมีการกั้นรั้วอยู่ ทำให้คนสงสัยว่า เข้าไปได้อย่างไร
บางคนมองว่า เป็นการปีนรั้วเข้าไปนำเสนอข่าว โดยมีการได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ รวมทั้งตั้งข้อสงสัยถึงมาตรการดูแลของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่รัดกุมและมีมาตรฐานที่ดีพอ
อย่างไรก็ดี ทางสถานีข่าว CNN ออกแถลงการณ์ถึงการรายงานจากภายในจุดเกิดอาชญากรรมในครั้งนี้ ว่า ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ทีมข่าวเข้าไปในอาคารด้วยเจตนาดี เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน ซึ่งตอนนี้ได้ระงับการเผยแพร่แล้ว
“ทีมข่าวได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ตรงจุดนั้นแล้ว เพื่อเข้าไปในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทีมข่าวเข้าใจแล้วว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่สามารถให้อนุญาตเข้าพื้นที่ก่ออาชญากรรมได้ หากทีมข่าวตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ ว่า อาคารและห้องเรียนเหล่านี้ เป็นพื้นที่หวงห้าม ทีมข่าวจะไม่เข้าไป ทีมข่าวไม่มีเจตนาใด ๆ ที่จะก้าวล่วงกฎข้อบังคับ…”
ขณะที่ ทางด้าน “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ควบคุมตัวและทำการเพิกถอนวีซ่า (VISA) ผู้สื่อข่าวและช่างภาพ หลังได้นำตัวมาสอบปากคำ พบว่า มีความผิดฐานปฏิบัติงานในประเทศ เพราะเข้าไทยมาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว
ไม่เพียงแค่นั้น ทางสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์ ตำหนิการกระทำของทีมข่าว กรณีเข้าไปในที่เกิดเหตุ เพื่อรายงานเหตุกราดยิง โดยชี้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่มืออาชีพและละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชนอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ด้านทางทีมผู้สื่อข่าว CNN หลังจากแถลงข่าว พร้อมชี้แจงขอโทษ ได้เสียค่าปรับคนละ 5,000 บาท และพร้อมเดินทางกลับต่างประเทศ
เรียกได้ว่า เหตุการณ์การรายงานของผู้สื่อข่าว พร้อมภาพที่เผยรายละเอียดของจุดเกิดเหตุโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ สะท้อนการทำงานสื่อมวลชน เพราะส่งผลต่อหลักฐานทางคดีในที่เกิดเหตุ
แม้คนร้ายเสียชีวิตแล้วก็ตาม รวมไปถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ของการรักษาความปลอดภัย และการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ ที่ยังต้องเก็บรักษาหลักฐานในพื้นที่เกิดเหตุเพื่อหาแรงจูงใจ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางทีม MGR Live จึงติดต่อไปยัง รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ช่วยสะท้อนประเด็นที่เกิดขึ้น
“สะท้อนการทำข่าวในคดีสำคัญๆ แน่นอนว่า สื่อมวลชนเองก็อยากทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการนำเสนอ การส่งสารไปยังผู้รับสาร ซึ่งมีคนไทย มีคนต่างชาติ คนทั่วโลก เพราะต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ช็อกโลกครับ ไม่ใช่เฉพาะคนไทย มันจะทำให้คนจำนวนมากอยากจะมาติดตามข่าวสาร ความคืบหน้าของคดี ความเป็นมา ความเป็นไป
อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ต้องหาความสมดุล จรรยาบรรณในเรื่องวิชาชีพของสื่อมวลชน กับเรื่องของการทำงานของเจ้าหน้าที่ และของตำรวจด้วย”
[รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล]
ทั้งนี้ เขายังอธิบายเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการรักษาที่เกิดเหตุ ว่า การตรวจสถานที่เกิดเหตุครั้งแรก บางประเด็นอาจจะยังตรวจไม่พบ และอาจจะยังคาดการณ์ไม่ถึง หากผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปอาจจะทำให้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคดีสูญหายไป
“การรักษาที่เกิดเหตุมีความสำคัญ ในกรณีที่เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน หรือคงสภาพหลังที่เกิดเหตุให้ใกล้เคียง หรือเหมือนเดิมให้มากที่สุด
กรณีถ้ามีการเก็บ เคลื่อนย้ายศพแล้ว เจ้าหน้าที่อาจจะยังคงเก็บรักษาที่เกิดเหตุไว้ ให้ยังใกล้เคียงกับช่วงเกิดเหตุมากที่สุด เหตุผลเพราะว่า การตรวจสถานที่เกิดเหตุครั้งแรก บางประเด็นเราอาจจะยังไม่พบ และเราอาจจะยังคาดไม่ถึง
แต่หลังจากนั้นไปแล้ว เจ้าหน้าที่อาจจะได้รับข้อมูลใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อทางคดี ก็อาจจะมีการตรวจสถานที่เกิดเหตุซ้ำ ถ้ามีการให้ปล่อยให้คนใดคนนึง หรือมีการกลบเกลื่อน ร่องรอยในหลักฐาน ทำความสะอาด ก็อาจจะทำให้หลักฐาน ที่เราได้จากสถานที่เกิดเหตุ ที่เป็นประโยชน์ต่อคดีสูญหายไป ตรงนี้คือความสำคัญ
ประเด็นที่ 2 คือ การที่จะคงไว้ รักษาไว้ในสถานที่เกิดเหตุ หมายความว่า ผู้ที่มีอำนาจและรับผิดชอบโดยตรง โดยเฉพาะมีอำนาจในการตัดสินใจควรจะเป็นคน ๆ เดียว ที่จะบอกว่า คนนี้มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไป หรือมีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบในพื้นที่
แน่นอนว่า ต้องเป็นตำรวจ เพราะจะรู้ในเรื่องของการรวบรวมเก็บหลักฐานมากที่สุด เช่น ตอนนี้อาจจะต้องมีการประสานงาน การบูรณการการทำงานร่วมกันของทั้งตำรวจ สาธารณสุข อาสาสมัครในพื้นที่ กู้ภัย ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยงานต่างๆ ก็จะได้เข้าใจตรงกันว่า มีความสำคัญอยู่ ถ้าจำเป็นต้องคงไว้ รักษาไว้ในที่เกิดเหตุ
และการที่จะให้เข้า หรือเข้าไม่ได้ จะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ว่าสื่อต่างประเทศเข้าได้ สื่อไทยเข้าไม่ได้ หรือ สื่อไทยเข้าได้ แต่สื่อต่างประเทศเข้าไม่ได้ ก็อาจจะดูเป็นความไม่มีมาตรฐานเดียวกัน”
เทียบต่างประเทศ “ไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้า”!!
ถึงแม้ว่า เหตุกราดยิงจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในประเทศไทย หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอีกซีกโลก ถ้าหยิบเคสในต่างประเทศมาเทียบหลายๆ เคส ก็พอจะทำให้ได้คำตอบคร่าวๆ คือ การกำหนดผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน รวมถึงมาตรการการดูแลความปลอดภัย ไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุ
หรือเหตุการณ์นี้จะเป็นที่รู้กันในวงการสื่อทั่วโลก แต่สื่อต่างๆ ในต่างประเทศกลับไม่นำเสนอข่าวใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้เลย เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่ในเหตุการณ์ และเพิ่มอาชญากรรมเลียนแบบ
“ในต่างประเทศจะมีกำหนดผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน ว่า ใครมีหน้าที่ในการรับผิดชอบสถานที่เกิดเหตุตรงนี้ คนที่เข้าได้เป็นใครบ้าง และผู้ที่ไม่มีหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
แม้กระทั่งตำรวจ ผู้บังคับบัญชาเองถ้าเกิดไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ควรจะเข้าไปบริเวณที่จะต้องเก็บรักษาสถานที่เกิดเหตุไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ต่อทางคดี
เพราะตอนนี้เชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่คนทั่วโลกก็อยากจะทราบว่ามูลเหตุ สาเหตุแรงจูงใจของการก่อเหตุครั้งนี้มาจากอะไร ทำให้หากมีการเข้าไปเหยียบย่ำ หรือมีการเข้าไปสัมผัสร่องรอยเหล่านี้อาจจะสูญหายไป”
สุดท้าย ผู้เชี่ยวอาชญาวิทยา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการสะท้อน กรณีศึกษาให้เห็นถึงความการทำงาน ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน
“อยากจะให้กรณีของผู้สื่อข่าว CNN ตามที่เป็นข่าว เข้าไปเก็บข้อมูล อาจจะต้องดูเรื่องประสานงาน ผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน ให้ถูกคน ถูกหน่วยงาน
และผมว่า ในบ้านเราอาจจะต้องมีผู้ประสานงานที่เป็นทางการ ให้สื่อต่างชาติได้รู้ ให้ทราบว่าเขาต้องการถามข้อมูล หรือจะขอเข้าพื้นที่ จะประสานกับใครได้บ้าง
เพราะเขาอาจจะมองในมุมเขา ว่า เขาพูดไทยไม่ค่อยได้ ไม่รู้จะติดต่อใคร แม้เขาจะมีผู้สื่อข่าวภาคสนามในไทยอยู่ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องมีการสื่อสารกันครับ”
บทความโดยสกู๊ปข่าว : ทีมข่าว MGR Live
———————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 10 ต.ค.65
Link : https://mgronline.com/live/detail/9650000097341