พล.อ.Kim Alexey Rostislavovich รองผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังภาคพื้นดิน
กองทัพรัสเซีย เข้าพบ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่กรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
MGR Online – สัมพันธ์กองทัพ “พม่า-รัสเซีย” แน่นขึ้นอีกระดับ 2 ฝ่ายร่วมจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการก่อการร้าย เริ่มประชุมนัดแรกที่กรุงเนปีดอ กลางสัปดาห์ที่แล้ว
ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมฮิลตัน กรุงเนปีดอ ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมพม่า-รัสเซีย เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ครั้งที่ 1 โดยมี พล.ท.โมมิ่นทูน กรรมการสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) พม่า เสนาธิการกองทัพบก กองทัพพม่า เป็นประธานร่วมฝ่ายพม่า พล.อ.Kim Alexey Rostislavovich รองผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังภาคพื้นดิน กองทัพสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นประธานร่วมฝ่ายรัสเซีย
คณะกรรมการชุดนี้จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือทางทหารระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพรัสเซีย ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังการรัฐประหารของกองทัพพม่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
การประชุมคณะกรรมการร่วมพม่า-รัสเซีย เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ครั้งที่ 1 ที่โรงแรมฮิลตัน กรุงเนปีดอ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2565
พล.อ.Kim Alexey Rostislavovich ได้นำทีมงานเดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ และมาถึงกรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน รุ่งขึ้น ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ได้เข้าพบกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธาน SAC และนายกรัฐมนตรีพม่า โดยได้หารือกันในหลายประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพรัสเซีย เช่น ทางด้านการศึกษา เทคโนโลยี สาธารณสุข ตลอดจนการให้ทุนแก่นักเรียนนายร้อยพม่าไปศึกษาต่อยังโรงเรียนนายทหารของกองทัพรัสเซีย
จากนั้นในวันเดียวกัน (30 พ.ย.) พล.อ.Kim Alexey Rostislavovich ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมพม่า-รัสเซีย เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายกับ พล.ท.โมมิ่นทุน
วันที่ 1 ธันวาคม พล.ท.โมมิ่นทุน และ พล.อ.Kim Alexey Rostislavovich ในฐานะประธานร่วม ได้ลงนามรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 1 อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของหัวข้อที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้พูดคุยกันว่ามีประเด็นอะไรบ้าง และขอบเขตการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการร่วมพม่า-รัสเซีย เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายเป็นเช่นไรและครอบคลุมพื้นที่ใด
หลังการรัฐประหาร กลุ่มก่อการร้ายหลักที่สภาบริหารแห่งรัฐพม่าได้ขึ้นบัญชีไว้ และมีความเคลื่อนไหวมากที่สุด ได้แก่ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นโดยอดีตนักการเมืองของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาพม้า (CRPH) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองพรรค NLD และกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเงา (NUG) ให้จัดตั้งขึ้นหลายกลุ่ม กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของพม่า
ด้วยเหตุที่ถูกนิยามให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย ทำให้ทั้ง NUG CRPH และตัวแทน PDF ทุกกลุ่มไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพ ที่สภาบริหารแห่งรัฐได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 โดยที่ผ่านมามีการพูดคุยกับตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ไปแล้ว 10 กลุ่ม อย่างน้อยกลุ่มละ 2 ครั้ง
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 3 ธ.ค.65
Link : https://mgronline.com/indochina/detail/9650000115257