ทีมวิจัยระบบการป้องกันของกำแพงเมืองจีน ซึ่งถูกยกให้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เผยการค้นพบซากประตูที่ถูกซ่อนอยู่กว่า 130 บานบนกำแพงเมืองจีน เมื่อไม่นานมานี้ ผ่านการถ่ายภาพต่อเนื่อง ที่มีความละเอียดเกือบระดับเซนติเมตร
สำนักข่าวซินหัวรายงานเทศบาลนครเทียนจิน เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ว่า ทีมงานทำการวิเคราะห์รูปภาพเพิ่มเติมและลงพื้นที่สำรวจประตูลับดังกล่าว และพบว่าประตูลับแต่ละบานออกแบบมาให้เข้ากันได้ดีกับภูมิประเทศในท้องถิ่น ในอดีตเส้นทางลับเหล่านี้มีไว้เป็นทางผ่านของทหารสอดแนม ขณะที่บางเส้นทางถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกกำแพงเมืองจีน หรือเพื่อการค้าและการพาณิชย์สมัยโบราณ
เอกสารทางการบางฉบับที่มีอายุย้อนกลับไปสมัยราชวงศ์หมิง (ปี 1368-1644) ระบุว่า ชนเผ่าเร่ร่อนได้รับอนุญาตให้ใช้งานประตูลับข้างต้น เพื่อการเลี้ยงปศุสัตว์ระหว่างภูมิภาคชิงไห่และเหอเท่า ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรน้ำและหญ้าอุดมสมบูรณ์ในห้วงเวลานั้น
จางอวี้คุน ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทียนจิน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า การเลี้ยงปศุสัตว์ข้างต้น มีหลักฐานยืนยันเป็นประตูลับขนาดใหญ่บางส่วน ที่สามารถให้ม้าสองตัวเดินผ่านจากทั้งสองทิศทาง ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยพิสูจน์ว่า กำแพงเมืองจีนไม่ได้ปิดสนิท แต่จะ “เปิด” อย่างเป็นระบบ
ก่อนหน้านี้ จีนมีการศึกษาเกี่ยวกับทางลับดังกล่าวน้อยมาก ทว่าการค้นพบครั้งใหม่ สามารถช่วยนำเสนอกลไกทางสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์และเด่นชัดของกำแพงเมืองจีน
ทีมงานยังพบประตูทางออกที่ลึกลับที่สุดของเส้นทางลับเหล่านี้ ซึ่งถูกบันทึกไว้โดยเหล่านักวิชาการในสมัยราชวงศ์ถัง ซ่ง หมิง และชิง แต่ไม่เคยมีหลักฐานทางกายภาพของทางออกลับประเภทนี้ปรากฏมาก่อน
หลี่เจ๋อ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัย อธิบายว่า ประตูทางออกฝั่งที่หันไปทางข้าศึกถูกพรางด้วยอิฐ ส่วนฝั่งที่หันไปทางทหารในกำแพงเมืองจีน ถูกสร้างให้เป็นโพรง ทำให้ศัตรูแทบไม่สามารถแยกแยะตำแหน่งของทางออก เมื่อมองจากภายนอก พร้อมชี้ว่า เมื่อด่านกำแพงหลักที่อยู่ใกล้เคียงถูกโจมตี ทหารจีนสามารถพังประตูจากด้านในได้ เสมือนการทุบเปลือกไข่ และทำการโจมตีแบบสายฟ้าแลบ ซึ่งนับเป็นเครื่องยืนยันชั้นดีถึงภูมิปัญญาทางการทหารของจีนในสมัยโบราณ
ทั้งนี้ กำแพงเมืองจีนประกอบด้วยกำแพงหลายช่วงที่เชื่อมต่อกัน จนมีความยาวรวมกว่า 20,000 กิโลเมตร และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก).
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA
————————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 5 ม.ค.65
Link : https://www.dailynews.co.th/news/1862452/