– กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตรวจพบบอลลูนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นบอลลูนสอดแนมของจีนบินอยู่เหนือท้องฟ้าของประเทศ ขณะที่จีนยอมรับว่าบอลลูนเป็นของพวกเขาจริง แต่อ้างว่ามันลอยเข้าสหรัฐฯ อย่างไม่ตั้งใจ
– ปัจจุบันวิธีสอดแนมยอดนิยมคือการใช้ดาวเทียม แต่บอลลูนก็เริ่มกลับมาเป็นตัวเลือกอีกครั้ง จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กับคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ดาวเทียมทำไม่ได้
– การพบบอลลูนสอดแนมของจีนจุดประเด็นความขัดแย้งรอบใหม่กับสหรัฐฯ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ ประกาศเลื่อนกำหนดเดินทางเยือนปักกิ่ง ที่ไม่เกิดขึ้นมานานกว่า 5 ปี
ข่าวที่ว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังสังเกตการณ์บอลลูนที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นบอลลูนสอดแนมของประเทศจีน ที่ลอยเหนือฟ้าสหรัฐฯ ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย รวมถึงเรื่องที่ว่า มันมาทำไม
ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เส้นทางการบินของบอลลูนลูกนี้ ซึ่งพบเหตุครั้งแรกที่เมืองมอนทานา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.พ. 2566 อาจทำให้มันลอยผ่านพื้นที่อ่อนไหวหลายแห่ง และพวกเขากำลังดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อต่อต้านการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองของต่างชาติ
อีกคำถามที่เกิดขึ้นคือ หากบอลลูนดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อสอดแนมจริง เหตุใดจีนจึงเลือกใช้บอลลูนแทนที่จะเป็นดาวเทียม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การใช้บอลลูนเพื่อการสอดแนมเริ่มกลับมาเป็นตัวเลือกอีกครั้งแล้ว เพราะมันมีข้อดีหลายอย่างที่ทำให้มันน่าสนใจไม่แพ้ดาวเทียม
แต่ไม่ว่าบอลลูนลูกนี้จะมาด้วยเหตุผลใดก็ตาม มันได้สร้างความเสียหายเพิ่มเติมแก่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว และทำให้แผนการเดินทางเยือนจีนของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องถูกเลื่อนออกไป
บอลลูนจีนที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็นบอลลูนสอดแนม
บอลลูนสอดแนมคืออะไร
การใช้บอลลูนที่ระดับความสูงมาก (high-altitude surveillance balloon) เพื่อการสอดแนมและภารกิจอื่นๆ ทางทหาร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน โดยเฉพาะในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นใช้บอลลูนที่ออกแบบมาให้บินในกระแสลมกรด (jet stream air current) ทิ้งระเบิดใส่ดินแดนสหรัฐฯ ซึ่งไม่สร้างความเสียหายแก่เป้าหมายทางทหาร แต่บอลลูนลูกหนึ่งตกในป่ารัฐโอเรกอน ทำให้มีพลเมืองเสียชีวิตหลายราย
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐฯ ก็เริ่มการสำรวจด้วยบอลลูนสอดแนม ทำให้เกิดภารกิจขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘โปรเจกต์ เจเน็ต’ บอลลูนจำนวนมากถูกส่งไปถ่ายรูปดินแดนของโซเวียตในช่วงทศวรรษที่ 50
บอลลูนสอดแนมตามปกติจะลอยลำด้วยก๊าซฮีเลียม ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์, กล่อง, เรดาร์, เซนเซอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร บินอยู่ที่ความสูงราว 24,000 ม. ถึง 37,000 ม. เหนือเส้นทางการบินพาณิชย์ ซึ่งแทบไม่เคยบินสูงกว่า 12,000 ม. ส่วนเครื่องบินขับไล่ปกติจะบินสูงไม่เกิน 20,000 ม. แต่เครื่องบินสอดแนมอย่าง U-2 มีเพดานบินที่ 24,000 ม. หรือมากกว่านั้น
พวกมันไม่สามารถควบคุมทิศทางการลอยที่แม่นยำนัก แต่สามารถนำทางหยาบๆ ไปยังจุดหมายได้ ด้วยการเปลี่ยนระดับความสูง เพื่อเกาะกระแสลมที่แตกต่างกัน
วิธีโบราณที่เริ่มกลับมาเป็นตัวเลือกอีกครั้ง
บอลลูนสอดแนมกลายเป็นสิ่งที่นิยมใช้กันอย่างมากในช่วงแรกๆ ของสงครามเย็น แต่เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดาวเทียม ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลจากบนอวกาศได้ การใช้บอลลูนจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง อย่างน้อยก็จนถึงตอนนี้
ปัจจุบันการลดขนาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คืบหน้าอย่างมาก หมายความว่า การใช้บอลลูน อาจกลับมาเป็นตัวเลือกในเครื่องมือสอดแนมสมัยใหม่อีกครั้ง “ตอนนี้น้ำหนักบรรทุกของบอลลูนน้อยลงแล้ว และบอลลูนก็มีขนาดเล็กลง, ราคาถูกลง และส่งขึ้นฟ้าง่ายกว่าดาวเทียมด้วย” นายปีเตอร์ เลย์ตัน จากสถาบัน ‘Griffith Asia Institute’ และเป็นอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศออสเตรเลียกล่าว
ขณะที่นายเบลค เฮอร์ซิงเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายกลาโหมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่สถาบัน ‘American Enterprise Institute’ กล่าวว่า แม้ความเร็วของบอลลูนจะช้า แต่ก็ใช่ว่าจะถูกพบเห็นได้ง่ายๆ เสมอไป “พวกมันมีสัญญาณต่ำมาก และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบเป็นศูนย์ จึงยากที่จะถูกตรวจพบด้วยการตระหนักรู้ หรือเทคโนโลยีตรวจตราทั่วไป”
บอลลูนยังสามารถทำหลายสิ่งที่ดาวเทียมทำไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือการสแกนพื้นที่เป็นวงกว้างจากระยะใกล้ และสามารถบินเตร็ดเตร่ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่เป้าหมายได้นานกว่า ต่างจากดาวเทียมที่ต้องโคจรตลอดเวลา และจำเป็นต้องโคจรตัดกับจุดที่เป็นเป้าหมายเพื่อรักษาการสอดแนมต่อไป
ดาวเทียมยังถูกคาดเดาวงโคจรได้ง่าย และต้องใช้เงินจ่ายหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในการส่งมันขึ้นสู่อวกาศ ขณะที่บอลลูนใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ
กลายเป็นปมความขัดแย้งรอบใหม่
การค้นพบบอลลูนสอดแนมนี้ กลายเป็นปมความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แม้ว่าปักกิ่งจะออกมาอ้างว่า บอลลูนดังกล่าวเป็นยานบินพลเรือน สำหรับวิจัยสภาพอากาศ ที่หลุดจากเส้นทางบินที่ควรจะเป็น และเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นไปแล้ว
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงวันเดียวกันที่นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี แต่ล่าสุดกระทรวงต่างประเทศประกาศเลื่อนการเดินทางอย่างไม่มีกำหนด ทำให้เกิดความรู้สึกของการสูญเสียโอกาสครั้งใหญ่
โจ ไบเดน กับ สี จิ้นผิง เพิ่งพบกันนอกรอบการประชุม G20 เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ผู้นำทั้งสองแสดงความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และลดความร้อนแรงของการใช้ถ้อยคำของทั้งคู่ และนายบลิงเคนต้องการสานต่อเรื่องนั้น ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่อยู่ในจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ย้ำว่าความสำคัญของการเยือนจีนไม่ใช่การผ่าทางตันใดๆ แต่เป็นการได้กลับมาติดต่อพูดคุยกันอีกครั้ง
แม้ว่าที่ผ่านมา สหรัฐฯ จะยั่วโมโหจีนมาตลอด เช่นทำข้อตกลงกับญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ จำกัดการส่งออกวัตถุดิบสำหรับผลิตชิปขั้นสูงให้จีนเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ หรือประกาศประจำการทหารในฟิลิปปินส์มากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รัฐบาลไบเดนก็ยังต้องการพูดคุยกับจีน
นายจูด บลังเชตต์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การศึกษาระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ (CSIS) เผยว่า ทำเนียบขาวมองว่าถึงเวลาพูดคุยแล้ว เพราะรัฐบาลเอาใจพวกสายเหยี่ยวในสภาคองเกรสสำเร็จ ด้วยมาตรการกดดันจีนที่ไปไกลยิ่งกว่ายุคของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่การมาของบอลลูนสอดแนมทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้ตอบโต้จีนอีกครั้ง
เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่าพวกเขายังไม่ยอมแพ้ และกำลังเดินหน้าติดต่อทางการทูตเพื่อวางแผนพบปะครั้งใหม่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดวันชัดเจน
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 4 ก.พ.66
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2620745