เทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial intelligence) หรือ เอไอ (AI) ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมา ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
เทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial intelligence) หรือ เอไอ (AI) ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมา ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และได้ถูกกล่าวถึงและถูกจับตาอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
โเดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาชอง “ChatGPT” ที่เป็น “กระแสร้อนแรง” จนสั่นสะเทือนวงการ เอไอ เพราะเป็นแชตบอตสุดล้ำ สามารถสร้างข้อความตอบโต้กับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ถามอะไรตอบได้หมด!! จนมีความใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นทุกที??
ต่อไป “ChatGPT” จะกลายเป็น Digital Disruption โลกใบนี้หรือไม่ เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังจับตามอง!! ว่าจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของหลายอุตสาหกรรม!?!
การที่เอไอ มีการใช้งานแพร่หลายมาขึ้น ให้หลายประเทศทั่วโลก เร่งพัฒนามาตรฐาน และหลักธรรมาภิบาล ปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance) เพื่อมาใช้เป็นกรอบในการประยุกต์ใช้ AI เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของสากล
แล้วประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหน? เมื่อทุกวันนี้ ก็เริ่มมีการนำเอไอมาใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน ซึ่งทาง ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic หรือ AIGC) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า จึงเชิญ “กูรู” จากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อน AI Governance มาพูดคุยในหัวข้อ “รู้จักมาตรฐาน ISO ด้าน AI เข้าใจหลักการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี” ซึ่งมีประเด็นและมุมมอง ที่น่าสนใจ
โดย “ดร. อภิวดี ปิยธรรมรงค์” นักวิจัย จาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค (NECTEC) บอกถึง การใช้เอไอในไทยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการ เอกชน รวมถึงภาครัฐ ต่างตื่นตัว นำเทคโนโลยี เอไอ มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ การทำงานและการให้บริการแล้ว กว่า 75% และอยู่ระหว่างการเริ่มทยอยนำมาใช้งาน 25%
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ “ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร” นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) บอกว่า กระแสการเข้ามาของ ChatGPT ทำให้ผู้ประกอบการหันกลับมามองและให้ความสำคัญ กับการประยุกต์ใช้ AI มากขึ้น จนส่งผลให้ตัวเลขรายได้ของบริษัทสตาร์ทอัพ ผู้พัฒนา เอไอ ไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 25% ในปี 65 และในปี 66 นี้ คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกราว 35% ต่อปี ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมด้านซอฟต์แวร์ ที่เติบโตเฉลี่ยราว 10% ที่สำคัญเติบโตมากกว่า บริษัทด้านไอที ถึง 2.5 เท่า!!
“วันนี้มีผู้พัฒนา เอไอ อยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้พัฒนา เอไอ ต่างประเทศ และในไทย ซึ่งในไทยมีอยู่กว่า 100 บริษัท ที่พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน เอไอ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เรากลับพบว่า บริษัทผู้พัฒนา เอไอ น้องใหม่ ค่อนข้างมีความยากในการที่จะนำสินค้าและบริการไปตีตลาดแข่งกับบริษัทอื่นๆ เพราะไม่มีมาตรฐานหรือหน่วยงานที่ทดสอบประสิทธิภาพการันตีเทคโนโลยี เอไอ ของพวกเขา ว่าดีจริงหรือไม่อย่างไร หรือแบบไหนที่เหมาะสม จึงทำให้บริษัทด้าน เอไอ หน้าใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้าได้ยาก เพราะลูกค้าเอง ก็ไม่รู้ว่าแบบไหน คือดีที่สุด การตัดสินใจซื้อจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น”
ขณะที่ “กิตติพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง” Product Technical Manager จาก British Standard Institution (BSI) ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐาน เอไอ บอกว่า ถ้าไทยมีมาตรฐานในมุมของการประยุกต์ใช้งาน เอไอ จะเป็นกลไกที่ช่วยสร้าง ความน่าเชื่อถือให้กับผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศน์ทุกกลุ่ม เช่น ผู้คิดค้นพัฒนาก็จะรู้ว่า ต้องเขียนซอฟต์แวร์แบบไหน วิเคราะห์ไปในทิศทางใด เพื่อไม่เกิดความเสี่ยงหรือเกิดน้อยที่สุด ที่สำคัญสอดคล้องกับที่มาตรฐานกำหนด ไม่ผิดจริยธรรมที่ควรจะเป็น
ขณะที่ผู้ใช้งาน ก็สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการใช้งานเทคโนโลยี เอไอ ที่ได้มาตรฐาน ติดต่อธุรกิจกับต่างชาติได้โดยไม่ถูกอคติ และสุดท้ายเมื่อหน่วยงานกำกับดูแล มีเกณฑ์ในการดูแล สามารถตรวจประเมินคุณภาพของเทคโนโลยีได้อย่างโปร่งใส ตามที่มาตรฐานกำหนด
“ความยากของการทำมาตรฐาน คือ จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ใน ระบบนิเวศน์ ที่ใช้ เข้าใจและยอมรับ เพราะ การร่างมาตรฐานต้องมองในบริบทของประเทศและต้องตอบโจทย์ความต้องการของคนที่เกี่ยวข้องโดยบาลานซ์ทั้งในมุมผู้ใช้งานที่ต้องการบริการที่มีคุณภาพ ขณะที่ผู้ประกอบการ ต้องการต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ไม่ซ้ำซ้อน และหน่วยงานกำกับเอง ก็ต้องการมาตรฐานที่สามารถบังคับใช้ได้จริง สรุปคือ มาตรฐานต้องอยู่ในจุดที่ทุกภาคส่วนรับได้ ไม่ใช่แค่กระดาษ ที่กำหนดออกมาแต่ทำตามไม่ได้” “กิตติพงษ์” ระบุ
อย่างไรก็ตาม ในมุมของ “ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด” ที่ปรึกษาอาวุโส เอ็ตด้า บอกว่า มาตรฐาน เอไอ นอกจากช่วยให้ คนใช้งานมีความมั่นใจ สามารถเลือกเทคโนโลยีมาใช้งานได้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมยกระดับผู้ประกอบการ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ระบบ ที่ทำให้สามารถพัฒนาบริการเอไอ ที่มีมาตรฐานด้วย ซึ่งในวันที่ เอไอ ไปไกล ไทยเราเริ่มมี แนวทางในการดูแล หากถามว่า ต้องเป็นมาตรฐานหรือกฎหมายเลยไหม เพื่อให้เหมาะสม กับบริบทไทยมากที่สุด AIGC พร้อมด้วย พาร์ทเนอร์ ก็ศึกษาในประเด็นนี้เช่นกัน แต่ไม่อยากให้เร่งรีบ อยากให้รอบคอบ เพื่อให้ตอบโจทย์ และแก้ปัญหาและจุดอ่อนได้มากที่สุด
“สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้ คือ การกำหนด โรด แมพ ของมาตรฐาน ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน เรื่องไหนบ้างที่จำเป็น ที่ต้องเร่งกำหนดให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน เพราะวันนี้เทคโนโลยีเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
สุดท้าย “ดร. อภิวดี ปิยธรรมรงค์” แนะนำว่า ถ้าจะทำมาตรฐาน เอไอ ไทย คือ วันนี้เรามี ปัญหาอย่างไรบ้าง หากเรารับเทคโนโลยีเข้ามาให้คนไทยใช้งานจะเกิดประเด็นเสี่ยงอย่างไรบ้าง ประเด็นที่สองคือ เราจะต้องมีการเปิดพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพราะมาตรฐานเป็นเรื่องซับซ้อน กระทบกับคนในวงกว้างความปลอดภัย เชื่อมโยงกับระบบต่าง ๆ
และสุดท้ายคือ กระบวนการในการตรวจสอบรับรองภายใต้มาตรฐาน จะต้องรวดเร็วไม่ล่าช้า ซึ่งเรื่องนี้ ในมุมของภาคธุรกิจค่อนข้างให้ความสำคัญมากๆ เพราะหากกระบวนการตรวจสอบล่าช้า ไม่ชัดเจน ก็กระทบต่อการแข่งขันในมุมภาคธุรกิจได้!!
ทั้งหมดเป็นการสะท้อนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญและอยู่ในวงการเอไอ ซึ่งต่อจากนี้ไปเรื่องเอไอ จะไม่ใช่เรื่องไกลตัว เมื่อมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายการกำหนดมาตรฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ผู้ใช้ และผู้พัฒนาได้ประโยชน์สูงสุด!?!
บทความโดย จิราวัฒน์ จารุพันธ์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 9 เม.ย. 2566
Link : https://www.dailynews.co.th/news/2196074/