บทความในอิรวดีพูดถึงบทบาท ‘ตำรวจลับ’ ของเผด็จการพม่าที่ใช้สอดแนม-ปราบปรามฝ่ายตรงข้าม และล่าสุดยุครัฐบาลทหารมินอ่องหล่าย นอกจากเครือข่ายที่ใช้จับตาความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านเผด็จการพลัดถิ่นที่อยู่ในไทยแล้ว ยังพบว่าผู้ที่มีบทบาทสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและปฏิรูปการเมืองช่วงรัฐบาลเต็งเส่ง ก็ยังกลายเป็นผู้ให้ข้อมูลกับตำรวจลับพม่าอีกด้วย
เบอร์ทิล ลินต์เนอร์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่เชี่ยวชาญประเด็นพม่าเขียนบทความเผยแพร่ในอิรวดี เมื่อ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา พูดถึงการที่เผด็จการพม่าตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีการใช้ “ตำรวจลับ” เพื่อคอยสอดแนมและปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยตลอด ทั้งในประนอกประเทศ รวมถึงมีตำรวจลับเหล่านี้ในประเทศไทยด้วย แต่เผด็จการในยุคต่างๆ ก็มีการกวาดล้างเหล่าตำรวจลับพวกนี้เองและตั้งหน่วยใหม่ในชื่อใหม่ขึ้นมาตั้งแต่ยุคของเนวิน มาจนถึงเผด็จการมินอ่องหล่ายในปัจจุบัน
โดยเผด็จการเชื่อว่าพวกเขาจำเป็นต้องมี “ตำรวจลับ” เอาไว้ใช้งานเพื่อที่จะคงอยู่ในอำนาจได้ และยิ่งตำรวจลับเหล่านี้ มีความโหดเหี้ยมอำมหิตมากเท่าไหร่ก็จะส่งผลดีกับพวกเขามากขึ้นเท่านั้น พวกนาซีเคยมีตำรวจลับชื่อหน่วยเกสตาโป ชาห์แห่งอิหร่านเคยอาศัยหน่วยซาวัคเป็นตำรวจลับและหน่วยข่าวกรอง เผด็จการแห่งโรมาเนีย นิโคแล โจเชสกู มี “กรมความมั่นคงแห่งรัฐ” ส่วนนายพลพม่านั้นมีหน่วยข่าวกรองของตนเอง ซึ่งมีการเปลี่ยนชื่อหลายชื่อในช่วงเวลาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงเป็นเสาหลักทางอำนาจให้กับรัฐเผด็จการทหาร
แต่ด้วยความที่ว่า หน่วยตำรวจลับของพม่านั้นมีลักษณะปกปิดเป็นความลับ ทำให้มีอยู่อย่างน้อยสองครั้งที่หน่วยงานข่าวกรองกองทัพพม่าเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบรัฐซ้อนรัฐ ซึ่งกลายเป็นภัยต่อระเบียบรัฐแบบดั้งเดิม ทำให้มีการกวาดล้างผู้นำของตำรวจลับบางส่วนโดยมีการลงโทษคุมขังพวกเขาเป็นเวลายาวนาน
เรื่องนี้ทำให้ผู้นำเผด็จการพม่าเริ่มหันมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตำรวจลับมีความจงรักภักดีต่อพวกเขาโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ นั่นกลายเป็นสาเหตุที่มินอ่องหล่าย ผู้นำระดับสูงของกองทัพและผู้นำเผด็จการทหารยุคปัจจุบัน ได้ให้ผู้นำระดับสูงของหน่วยข่าวกรองอยู่ใกล้ชิดกับเขามากกว่าเผด็จการคนก่อนๆ
พล.ท.เยวินอู ผู้ที่เป็นประธานของหน่วยงานที่ชื่อว่า สำนักงานแห่งกิจการความมั่นคงเสนาธิการทหาร (OCMSA) เป็นบุคคลที่ติดตามมินอ่องหล่ายไปออกงานประชุมทุกที่ตั้งแต่การประชุมกับคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งโดยเผด็จการทหาร ไปจนถึงการประชุมกับคณะทูตต่างชาติ และในช่วงเดินทางเยือนต่างประเทศ
พล.ท. เยวินอู เคยเดินทางไปเยือนรัสเซียด้วยกันกับมินอ่องหล่ายเมื่อเดือน มิ.ย. 2564 ในงานประชุมด้านความมั่นคงนานาชาติที่กรุงมอสโก และอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือน ก.ค. 2565 เพื่อพบปะกับรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานและอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ในช่วงการไปเยือนครั้งที่ 2 นั้น เยวินอูได้นำภรรยา นีลาร์ ไปด้วย อีกทั้งภรรยาของนายพลรายอื่นๆ ก็เดินทางไปด้วยเช่นกัน แต่ไปเพื่อช็อปปิงในกรุงมอสโกมากกว่าจะไปเข้าร่วมการประชุม
นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2564 เยวินอู ก็เป็นคนคอยจัดการไล่ตามศัตรูของเผด็จการทหารอีกทั้งยังเป็นคนคอยดูแลศูนย์ไต่สวนของกองทัพที่มีการทารุณกรรมผู้ต้องขังด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้าช็อต, การเผาอวัยวะเพศ, การกรอกของเหลวร้อนๆ หรือสารเคมีลงในปากของเหยื่อ และมีการข่มขืนผู้ต้องขังที่เป็นผู้หญิง อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้มีส่วนทำให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ออกมาสู่โลกภายนอกได้ แต่วิธีการทารุณกรรมเช่นนี้ก็ใช้กันมานานนับตั้งแต่ที่มีหน่วยข่าวกรองกองทัพพม่า
มีทินอู กับหน่วย “เอ็มอาย”
การทารุณกรรมโหดร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยของ นายพล เนวิน ผู้ที่ยึดอำนาจในปี 2505 แล้วก็ได้สร้างหน่วยงานตำรวจลับที่โหดเหี้ยมที่สุดในเอเชีย โดยแรกเริ่มแล้วพวกเขาเรียกว่าเป็นหน่วยสืบราชการลับกองทัพพม่า (MIS) ที่แม้แต่ชาวบ้านซึ่งไม่พูดภาษาอังกฤษก็เรียกพวกนี้ว่า “เอ็มอาย” แล้วก็มีความเกรงกลัวต่อหน่วยนี้ สายของหน่วยนี้อาจจะแฝงตัวอยู่ที่ใดก็ได้ บางครั้งก็แม้แต่กระทั่งภายในครอบครัวของกลุ่มต่อต้านเผด็จการเอง เนวิน เคยได้รับการฝึกอบรมโดยชาวญี่ปุ่นมาก่อนในเรื่องนี้ ทั้งจากที่โตเกียวในปี 2483-2484 และในตอนที่ญี่ปุ่นยึดครองพม่าในปี 2485-2488
พล.ท. เจมส์ แมคแอนดรูว์ จากสหรัฐฯ ระบุไว้งานวิจัยของเขาเกี่ยวกับตำรวจลับพม่าเมื่อปี 2550 เอาไว้ว่า เนวิน ผู้ที่ต่อมาจะกลายเป็นเผด็จการตัวบุคคลคนเดียวในพม่าต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน เคยได้รับการพิจารณาจากคุณสมบัติอย่าง “การใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร และปฏิบัติการลับ” รวมถึงได้รับการฝึกฝนผู้นำ “เฉพาะกิจ” ให้เข้ารับหลักสูตรการอบรมจาก เคมเปย์ไต ซึ่งเป็นองค์กรสารวัตรทหารและจารกรรมของญี่ปุ่นที่มีความโหดเหี้ยม การที่เนวินเคยได้รับการอบรมเช่นนี้เองทำให้เขาเล็งเห็นว่า การรักษาหน่วยงานข่าวกรองในเชิงบีบบังคับและหน่วยงานจารกรรมเอาไว้นั้นเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาอำนาจของเผด็จการเอาไว้
คนที่เนวินเชื่อใจให้เป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองมานานเป็นเวลาหลายปีนั้นคือผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาเอง พลจัตวา มีทินอู ซึ่งเป็นคนละคนกับทินอูที่เป็นหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พลจัตวา มีทินอู คนนี้ได้รับการฝึกอบรมจากสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) เมื่อปี 2500 ที่เกาะไซปัน เกาะที่มหาสมุทรแปซิฟิกที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าของ อีกคนหนึ่งที่ได้รับการฝึกอบรมในเรื่องนี้คือ เลมอง ผู้ที่ไต่เต้าขึ้นเป็นนักกฎหมายระดับสูงให้กับกองทัพพม่าและรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าในปี 2523-2524
ในยุคสมัยนั้นเป็นยุคสมัยสงครามเย็น สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนกองทัพพม่าเพราะว่ากองทัพพม่าได้ต่อสู้กับกลุ่มกบฏพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า แต่ความร่วมมือก็หยุดชะงักลงในปี 2504 เมื่อกองทัพพม่าและกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) เริ่มมีปฏิบัติการร่วมกันในการต่อต้านกลุ่มพรรคก๊กมินตั๋ง (ฝ่ายตรงข้ามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ) ที่ยังคงหลงเหลืออยู่หลังจากถูกตีพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองของจีนจนถอยร่นไปซ่อนตัวอยู่ทางตะวันออกของรัฐฉาน
ปฏิบัติการตำรวจลับภายใต้นายพล เนวิน นั้น เหยื่อของพวกเขาน้อยคนที่จะถูกวิสามัญฆาตกรรม แต่โดยส่วนมากแล้ว ใครก็ตามที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนติดต่อสัมพันธ์กับศัตรูทางการเมืองหรือศัตรูทางชาติพันธุ์ของระบอบเนวินก็มักจะถูกจับกุมและถูกทารุณกรรมในเรือนจำ หน่วย MIS ของเนวินก็มีคุกและศูนย์ทารุณกรรมของตัวเองที่มีฉายาว่า Yay Kyi Aing หรือ “บึงน้ำใส” มีนักโทษการเมืองจำนวนมากที่ถูกทารุณกรรมจนเสียชีวิตที่นั่นและที่คุกเล็กคุกน้อยแหล่งอื่นๆ ของ MIS
ตำรวจลับ MIS ไม่เพียงแค่จับตามองประชาชนทั่วไปเท่านั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกมองว่ามีแนวคิดแบบเสรีนิยมก็ถูกจับตามองด้วย ทำให้นอกจากการคอยโยกย้ายข้าราชการอยู่ตลอดเวลาแล้ว การทุจริตคอร์รัปชัน และความโหดเหี้ยมรุนแรงจากสถาบันการเมืองของเผด็จการก็กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความภักดีอย่างเหนียวแน่สำหรับกองทัพพม่า
นอกจากในประเทศแล้ว ตำรวจลับพม่า MIS ยังทำการเฝ้าจับตามองกลุ่มทางการเมืองพลัดถิ่นจากพม่าที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ, เยอรมนีตะวันตก, ไทย, ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ด้วย จนทำให้ผู้คนมีความหวาดระแวงต่อกันและกันจนไม่มีใครกล้าทำอะไรทางการเมือง เพราะไม่มีใครแน่ใจว่าคนรู้จักของพวกเขาเป็นสายให้กับเผด็จการทหารหรือไม่
ในช่วงระหว่างปี 2513-2523 ตำรวจลับ MIS ก็มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ในตอนนั้น รอดนี ทัสเกอร์ เขียนบทความในวารสาร “ฟาร์อีสเทิร์นอิโคโนมิครีวิว” ระบุถึง มีทินอู หัวหน้าตำรวจลับในยุคนั้นว่า “เขาและคณะทำงาน MIS ร่วมกับเขาเป็นคนมีความเข้าใจโลกภายนอกมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้นำพม่าที่มีวิสัยทัศน์คับแคบและยึดติดอะไรๆ แบบดื้อรั้นมากกว่า พวกเขา (ตำรวจลับ) สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ และพูดคุยกับคนต่างชาติได้อย่างอิสระ มักจะมีวิสัยทัศน์ที่ไกลกว่าของรัฐบาลพม่าที่มีความตายตัวไม่ยืนหยุ่น …ถึงแม้ว่าจะมีความโหดเหี้ยม แต่เขา(ทินอู) ก็สร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูเป็นคนเข้าสังคม, ใจกว้าง, มีเสน่ห์ ดูตรงกันข้ามกับผู้นำในรัฐบาลเผด็จการรายอื่นๆ บางคนที่มุดอยู่ในรู”
แต่พอถึงปี 2526 รัฐบาลเนวินก็ประกาศอย่างกะทันหันและอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่า ทินอู นั้น “ได้รับอนุญาตให้ลาออก” พร้อมกับอดีตผู้ช่วยของเขา พ.อ. โบนี ซึ่งหมายถึงการที่พวกเขาถูกกวาดล้างโดยอ้างว่าภรรยาของพวกเขาดูเหมือนจะคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นข้ออ้างที่มักจะนำมาใช้เล่นงานเจ้าหน้าที่ทหารในพม่า ในเวลาต่อมาทินอู และ โบนี ก็ถูกสั่งจำคุก รวมถึงมีการกวาดล้าง MIS ทั้งหน่วยเกิดขึ้นด้วย
ทุกวันนี้ผู้คนก็ยังคงไม่ทราบสาเหตุที่เกิดการกวาดล้างขึ้นในยุคนั้น มีแต่การคาดเดา แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าในตอนนั้น MIS ในตัวเมืองเริ่มมีอำนาจมากเกินไปจนชวนให้ผู้มีอำนาจไม่สบายใจ พวกเขามีอำนาจมากขึ้นในระดับที่อาจจะทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐได้ เรื่องนี้เป็นภัยต่อพวกคนผู้นำวงในที่เนวินคัดเลือกเข้ามา ซึ่งคนพวกนี้เป็นพวกทำตามสั่งไปเรื่อยๆ แบบไม่ค่อยฉลาดนัก
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การกวาดล้างได้ส่งผลต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงในประเทศโดยทันที ในวันที่ 9 ต.ค. 2526 เกิดเหตุระเบิดในกรุงย่างกุ้ง (ซึ่งยังคงเป็นเมืองหลวงพม่าอยู่ในตอนนั้น) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 21 ราย ในนั้นมีรัฐมนตรีเกาหลีใต้ที่เดินทางเยือนประเทศด้วย กลุ่มคนที่ก่อเหตุในครั้งนั้นคือทหารของเกาหลีเหนือ มีรายหนึ่งเสียชีวิตจากการยิงสู้กันกับกองทัพพม่า อีกสองคนถูกจับเป็น มีรายหนึ่งถูกสั่งประหารชีวิตในปี 2528 ขณะที่อีกคนหนึ่งอยู่ในเรือนจำอินเส่งจนกระทั่งเสียชีวิตตามธรรมชาติในปี 2551 มีผู้สังเกตการณ์พม่าบอกว่าเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าหากมีทินอูยังคงเป็นผู้นำหน่วยข่าวกรองอยู่ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าหน่วยข่าวกรองของพม่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว
ขิ่นยุ้นต์กับ DDSI
แต่ต่อมาในปี 2527 ก็มีการแต่งตั้งหัวหน้าหน่วยข่าวกรองคนใหม่คือ นายพลขิ่นยุ้น ในหน่วยงานที่ชื่อกรมอำนวยการข่าวกรองกลาโหม (DDSI) ของพม่า ซึ่งขิ่นยุ้นต์มีอะไรหลายอย่างคล้ายทินอู ยังมีความหนุ่มแน่นและฉลาด แต่ก็ดำเนินการอย่างโหดเหี้ยมเกินขอบเขตได้ถ้าหากมันให้ประโยชน์กับจอมเผด็จการ เนวิน ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี คินยุนก็สร้างหน่วยข่าวกรองการทหารของพม่าขึ้นมาใหม่ ในช่วงเวลานั้นเองพม่าก็มีการลุกฮือของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผู้คนหลายล้านคนทั่วประเทศเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลเนวิน และเรียกร้องให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยแบบเดียวกับช่วงก่อนหน้าปี 2505 ที่เกิดรัฐประหาร
ถ้าเป็นรัฐบาลในที่อื่นๆ พวกเขาอาจจะล้มไปแล้วถ้าหากเผชิญกับการลุกฮือต่อต้านอย่างหนักมากของประชาชนชาวพม่าในครั้งนั้น แต่เผด็จการทหารพม่าก็ใช้กองทัพกราดยิงประชาชนกลางกรุงย่างกุ้งเสียชีวิตหลายหมื่นรายและในที่อื่นๆ มีการเสริมกำลังกองทัพเพื่อสกัดกั้นการลุกฮือของประชาชน
หลังจากที่กองทัพปราบปรามการลุกฮือของประชาชนแล้ว ก็มีการขยายขนาดของ DDSI จนถึงปี 2534 มีการจัดตั้งหน่วยใหม่ 9 หน่วย และ DDSI ก็มีเรือนจำของตัวเอง 19 แห่ง มี 7 แห่งในย่างกุ้ง มีกลุ่มนอกเครื่องแบบของ DDSI คอยสอดแนมการเคลื่อนไหวของหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีและศัตรูรัฐบาลรายอื่นๆ
แต่พอถึงปี 2547 ก็มีการกวาดล้างหน่วยงานข่าวกรองเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยมีการจับกุมตัวขิ่นยุ้นต์ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่าก่อนหน้านี้ เขาถูกโค่นล้มจากตำแหน่งและถูกจับกุมพร้อมกับเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองราว 3,500 นาย จากทั่วพม่า มีเจ้าหน้าที่อาวุโส 300 นายรวมอยู่ด้วย เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ที่เปรียบเสมือนครูของเขาอย่างเนวินเสียชีวิตเมื่อปี 2545
มีการสั่งคุมขังคินยุนภายในบ้านเนื่องจากข้อหาที่ครอบครัวของเขาก่อเหตุคุกคามนักธุรกิจเอกชนในย่างกุ้งเรียกร้อง “ค่าคุ้มครอง” จากพวกเขา แต่ก็มีคนสงสัยว่านี่จะเป็นแผนการที่วางไว้หลังจากเนวินเสียชีวิตเพื่อจำกัดอำนาจอิทธิพลของขิ่นยุ้นต์ งานศพของจอมเผด็จการที่ครองอำนาจในพม่ามาอย่างยาวนานจบลงด้วยการที่เขาถูกเผาศพใกล้กับบ้านของเขาที่ย่างกุ้งและมีคนเข้าร่วมพิธีศพเป็นสมาชิกครอบครัวของเขาไม่กี่คนกับเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ 20 นาย ไม่มีระดับยศสูงไปเข้าร่วมเลย
คำอธิบายที่น่าเชื่อถือที่สุดในเรื่องที่มีการโค่นคินยุนน่าจะเป็นเพราะว่าขิ่นยุ้นต์และ DDSI ทำการสั่งสมความมั่งคั่งเอาไว้มากพอสมควรผ่านการมีส่วนกับธุรกิจต่างๆ จนกลายเป็นการสร้างรัฐซ้อนรัฐคล้ายกับยุค ทินอู โดยที่ DDSI ไม่ได้แบ่งความมั่งคั่งให้กับพวกนายทหารระดับสูงด้วย เช่นเดียวกับเนวิน เผด็จการคนใหม่อย่างพลเอกอาวุโสตานฉ่วยไม่ต้องการให้มีคนที่จะมาเป็นคู่แข่งของเขา และขิ่นยุ้นต์ก็ดูเหมือนจะมีความทะเยอทะยานทางการเมือง ทำให้ตานฉ่วยไม่เชื่อใจเขา
เยวินอู กับ OCMSA
ทันทีหลังจากที่มีการโค่นล้มขิ่นยุ้นต์ ก็มีการยุบสำนักงานข่าวกรองเดิมที่มาจากการขยายตัวของ DDSI แล้วหันไปตั้งองค์กรใหม่แทนที่ชื่อ สำนักงานแห่งกิจการความมั่นคงเสนาธิการทหาร (OCMSA) ซึ่งอยู่ใต้การกำกับดูแลโดยตรงจากกองทัพ ทำให้ผู้นำอย่างมินอ่องหล่ายมีความมั่นคงอย่างน้อยก็ในอนาคตเท่าที่ประเมินได้ และ พล.ท. เยวินอู ก็จะไม่ทำพลาดแบบเดียวกับสองคนก่อนหน้านี้
ในยุคสมัยที่พม่าเปิดกว้างมากขึ้นระหว่างปี 2554-2564 องค์กร OCMSA ก็ยังคงดำเนินการอยูู่อย่างต่อเนื่อง พวกเขาคอยจับตามองการกระทำของนักการเมือง, นักกิจกรรม และนักข่าว แต่ตอนที่เกิดรัฐประหารปี 2564 ก็กลายเป็นตอนที่ พล.ท. เยวินอู และคนของเขาแสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการเต็มกำลังขององค์กรตำรวจลับและเป็นปฏิบัติการที่โหดเหี้ยมที่สุด
กลุ่มสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองของพม่า (AAPP) ระบุว่า ประชาชนถูกสังหาร 3,194 รายนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร มี 17,075 ราย ถูกคุมขัง และมี 5,274 ราย ได้รับการตัดสินลงโทษจากศาล มีนักโทษ 108 ราย ที่ได้รับโทษประหารชีวิต มีอยู่ 121 รายที่ถูกสั่งลงโทษโดยที่จำเลยไม่ได้เข้ากระบวนการที่ห้องพิจารณาคดี และมีอยู่ 150 ราย ที่อยู่ในแดนรอการประหาร มี 3,874 รายที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ
ตั้งแต่ก่อนหน้านี้จนถึงช่วงที่มีการลุกฮือปี 2531 พวกตำรวจลับของพม่ามีปฏิบัติการนอกประเทศไม่มากนัก ส่วนใหญ่แล้วมักจะเก็บข้อมูลแล้วก็ทำให้กลุ่มคนพลัดถิ่นหวาดกลัว แต่หลังจากการลุกฮือในครั้งนั้น ทำให้เกิดกลุ่มนักกิจกรรมสนับสนุนประชาธิปไตยหลายพันคนหนีไปประเทศอื่น โดยเฉพาะมาที่ประเทศไทย ทำให้มีปฏิบัติการตำรวจลับนอกประเทศมากขึ้น
ในตอนนั้นมือขวาของคินยุน คือ พ.อ. เต็งฉ่วย ส่งนักเลงมาทุบตีทำร้ายนักกิจกรรมพม่า และมีข้อกล่าวหาที่ว่าเขาได้สั่งฆ่านักกิจกรรมในช่วงที่เขาเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารในกรุงเทพ และในช่วงไม่กี่ปีหลังจากนั้น เขาก็เริ่มสร้างเครือข่ายนักการทูต, สายลับ, คนส่งข่าว และสื่อบางส่วนในไทย เมื่อเต็งฉ่วยกลับไปที่พม่าแล้วเขาก็ได้รับรางวัลโดยการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยข่าวกรองภายใต้ขิ่นยุ้นต์
ตำรวจลับพม่ามีอยู่ในไทย
ในปัจจุบันมีหลักฐานจำนวนมากบ่งชี้ว่า OCMSA ซึ่งเป็นหน่วยตำรวจลับปัจจุบันของพม่า มีการทำงานอย่างแข็งขันมากขึ้นในต่างประเทศ เรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับคนจำนวนมากคือ สายลับเหล่านี้ไม่ใช่แค่คนที่เป็นผู้ปฏิบัติการทั่วไปที่คอยจับตาดู นักกิจกรรม, นักข่าว และคนอื่นๆ ในไทยอย่างในเชียงใหม่ และที่แม่สอด จังหวัดตาก เท่านั้น แต่คนที่เคยเล่นบทในขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยและ “กระบวนการสันติภาพ” ในช่วงระหว่างปี 2555-2559 ซึ่งเป็นยุคของประธานาธิบดีเต็งเส่งนั้น ก็กลายเป็นผู้ให้ข่าวกับตำรวจลับไปด้วย
ในพม่าเองก็มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เคยถูกกวาดล้างหรือเขี่ยให้พ้นทางมาก่อนช่วงปี 2547 ต่อมาถูกใช้ให้เป็นที่ปรึกษา ในจำนวนนี้มีคนที่เคยสั่งทำใบปลิวประณามผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยอองซานซูจีในช่วงปี 2531 มีคนที่เคยติดต่อประสานงานกับผู้นำกองกำลังปะโอ และรวมถึงเต็งฉ่วยผู้น่าสะพรึงกลัวแห่งกรุงเทพฯ ซึ่งได้ยศเป็นพลจัตวาในตอนนี้ เรื่องนี้สะท้อนแนวคิดที่เนวินเคยพูดไว้ว่า จงส่งเสริมพวกพ้องที่จงรักภักดีมากกว่าจะส่งเสริมคนที่เก่ง ที่สำคัญคือ พลตรีจ่อวิน นักวิชาการผู้ที่เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธาน DDSI เพื่อคานอำนาจกับขิ่นยุ้นต์ที่กำลังมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ไม่เคยมีใครเห็นเขาอีกเลยหลังจากที่มีการรัฐประหาร
อนาคตของขบวนการประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าใจระบบภายในของหน่วยข่าวกรองของกองทัพพม่าทั้งในอดีตและในปัจจุบัน (ซึ่งหน่วยข่าวกรองที่ว่ากองทัพก็จงใจให้เป็นตำรวจลับของพวกเขา) ควรให้มีการคอยทำแผนผังรายละเอียดปฏิบัติการของ OCMSA ในปัจจุบัน และโต้ตอบพวกนั้นด้วยการเฝ้าระวังบนท้องถนนมากขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตด้วย
ในยุคสมัยนี้มีเครื่องมือสอดแนมอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อนที่ไม่เคยวางจำหน่ายมาก่อนสามารถหาได้จากสิงคโปร์ และอิสราเอล บวกกับการที่กองทัพและหน่วยงานกดขี่ปราบปรามประชาชนทำงานใกล้ชิดกันมากกว่าในอดีต คนพวกนี้กลายเป็นอันตรายได้ทั้งต่อคนที่อยู่ในประเทศและที่อยู่ต่างประเทศ
บทความโดย ทีมข่าวประชาไท
เรียบเรียงจาก Myanmar’s Dictators Have Always Relied on a Brutal Secret Police Force,The Irrawaddy
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ประชาไท / วันที่เผยแพร่ 24 เม.ย. 2566
Link : https://prachatai.com/journal/2023/04/103816