รัฐบาลโซลและรัฐบาลวอชิงตัน ประกาศร่วมกัน ว่าหากเกาหลีเหนือใช้อาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐ หรือพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้ มันจะเป็น “จุดจบ” ต่อระบอบการปกครองของนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ
คำขู่รุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้น ระหว่างประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ผู้นำเกาหลีใต้ เยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเขาและประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ หารือเกี่ยวกับการยกระดับเกราะป้องกันด้านความมั่นคงของสหรัฐสำหรับเกาหลีใต้ ในการเผชิญกับการทดสอบขีปนาวุธที่เพิ่มขึ้นของเกาหลีเหนือ
อนึ่ง “ปฏิญญาวอชิงตัน” จะส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า “ร่มนิวเคลียร์” หรือการที่สหรัฐให้หลักประกันการป้องกันอาวุธนิวเคลียร์แก่เกาหลีใต้, ส่งเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีพลังงานนิวเคลียร์ (เอสเอสบีเอ็น) มาติดตั้งบนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1980 และมาตรการอื่น ๆ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติมในเหตุการณ์การโจมตีของเกาหลีเหนือ
ทว่าสหรัฐยืนยัน ยังไม่มีแผนที่จะนำอาวุธนิวเคลียร์ กลับเข้ามาประจำการในเกาหลีใต้แต่อย่างใด และนักวิเคราะห์บางคนยังสงสัยใน “คุณค่าทางปฏิบัติ” ของปฏิญญาฉบับนี้อีกด้วย
ยุนพยายามสร้างความมั่นใจให้ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งมีความวิตกกังวลมากขึ้น เกี่ยวกับความมุ่งมั่นของสหรัฐต่อสิ่งที่เรียกว่า “การป้องปรามที่ขยายวงกว้างขึ้น” ว่าทรัพย์สินทางทหารของสหรัฐ รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ จะปกป้องเกาหลีใต้จากการโจมตี “ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง”
แม้ขณะนี้ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เชื่อว่า ควรพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง อีกทั้งช่วงก่อนหน้านี้ ยุนบอกเป็นนัยว่า รัฐบาลโซลอาจทำตามตัวเลือกข้างต้นเช่นกัน แต่ผู้สันทัดกรณีหลายคนระบุว่า มันไม่เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน และสิ่งนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากมันมีข้อตกลงโดยนัยว่า เกาหลีใต้จะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่จำกัดความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของรัฐบาลโซล
บรรดาผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ สองประเทศซึ่งเกาหลีเหนือถือเป็น “ศัตรูตัวฉกาจ” มีความเกี่ยวข้องกับการปกครองของคิม และอาจมีการยิงขีปนาวุธมากกว่าเดิม เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตัวเอง
ต่อหน้าสาธารณชน เกาหลีเหนือจะมองข้ามความมั่นใจของสหรัฐ เกี่ยวกับการป้องปรามนิวเคลียร์ ทว่าเบื้องหลัง พวกเขาจะได้รับข้อความที่ว่า “หากเกาหลีเหนือใช้อาวุธนิวเคลียร์ มันจะเป็นจุดสิ้นสุดระบอบการปกครองของตระกูลคิม”
อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือยังคงมีข้อจำกัดมาก ด้านการใช้ทรัพยากรจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพื่อพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของประชาคมโลก ทว่าคิมยังคงไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติแต่อย่างใด
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ในเวลานี้ ความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุด เป็นสิ่งที่เหล่าพันธมิตรไม่สามารถควบคุมได้อย่างแท้จริง นั่นคือ บรรยากาศการเมืองภายในของสหรัฐ ซึ่งกำลังมีความกังวลอย่างมากในรัฐบาลโซล เกี่ยวกับการกลับสู่ทำเนียบขาวของพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะหากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในปี 2567 นั่นอาจก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
บทความโดย เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP
เครดิตวิดีโอ Al Jazeera English
————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 4 พ.ค. 2566
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2281548/