ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะ “กระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะ” ที่สามารถเคลื่อนที่เองได้เพื่อลดภาระ และช่วยทุ่นแรงให้ผู้ใช้งานในการลากกระเป๋าเดินทาง แต่เริ่มมีบางสายการบินห้ามใช้กระเป๋าดังกล่าวแล้ว
Key Points:
-แม้ว่ากระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะ จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน แต่มีบางสายการบินที่ห้ามนำขึ้นเครื่อง
-แบตเตอรี่ลิเทียมคือส่วนประกอบสำคัญของกระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะ แต่อาจเกิดอันตรายได้เมื่อนำขึ้นเครื่อง
-รู้หรือไม่? กระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะรุ่นใหม่บางรุ่น สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ หากถอดแบตเตอรี่ออกจากกระเป๋าแล้ว
“กระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะ” หรือ “กระเป๋าขี่ได้” (Smart Baggage) กำลังได้รับความนิยมจากนักเดินทางและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยลดความเมื่อยล้าจากการลากกระเป๋าหนักๆ หรือการหอบหิ้วสัมภาระหลายชิ้นในการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินภายในสนามบินที่ต้องเดินไกลจากจุดให้บริการต่างๆ ในสนามบิน ไปจนถึงประตูทางออกขึ้นเครื่อง (Gate) โดยกระเป๋าดังกล่าวถูกออกแบบมาให้เคลื่อนที่ตามเจ้าของ ซึ่งทำงานด้วยแบตเตอรี่จากการชาร์จไฟฟ้า
แม้ว่ากระเป๋าดังกล่าวจะได้รับความนิยมในกลุ่มนักเดินทางเป็นอย่างมาก แต่ก็มีบางสายการบินที่ออกมาประกาศว่า กระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะ บางรุ่นไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ เพราะมีแบตเตอรี่ในตัว โดยเฉพาะรุ่นที่ใช้ “แบตเตอรี่ลิเทียม” ที่ไม่สามารถถอดแยกออกจากตัวกระเป๋าได้ เนื่องจากอาจเกิดระเบิดและเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารและลูกเรือได้
สำหรับ “แบตเตอรี่ลิเทียม” เป็นแบตเตอรี่คุณภาพสูง มีพลังงานไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากถูกออกแบบมาเพื่อทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง แม้จะว่าชาร์จแบตเพียงแค่ครั้งเดียว แต่ถ้าถูกบรรจุผิดวิธีหรือได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่ง อาจทำให้เกิดการลัดวงจรและลุกไหม้ได้
สายการบินไหนไม่อนุญาตให้ “กระเป๋าขี่ได้” ขึ้นเครื่อง?
ไม่ใช่ว่ากระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะจะถูกแบนจากทุกสายการบิน ปัจจุบันมีเพียงแค่ไม่กี่สายการบินเท่านั้น ที่ออกประกาศไม่อนุญาตให้นำกระเป๋าดังกล่าวขึ้นเครื่อง ได้แก่
– สายการบินไทย หรือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่อนุญาตให้นำกระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะขึ้นเครื่อง รวมถึงห้ามนำยานพาหนะขนาดเล็กทุกชนิดที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมขึ้นเครื่องโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการถือขึ้นเครื่อง (Carry on) หรือสัมภาระลงทะเบียน (Checked Baggage) ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ ที่มีกำลังไฟเกิน 2.7 วัตต์ โดยในที่นี้รวมถึงกระเป๋าที่มีมอเตอร์ขับเคลื่อน หรือมีลักษณะใกล้เคียงกัน และกระเป๋าเดินทางที่ขี่ได้ Motorize Baggage, Rideable Carry-On Baggage อีกด้วย
– สายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ (American Airlines) หรือ AAL มีประกาศขอตรวจสอบกระเป๋าไฟฟ้าอัจฉริยะของผู้โดยสาร และผู้โดยสารต้องนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ออกจากกระเป๋าก่อนขึ้นเครื่อง และจะถูกห้ามใช้งานตลอดการเดินทาง แต่ยังสามารถใช้งานภายในสนามบินและบริเวณโดยรอบได้ตามปกติ
– สายการบินเดลต้าแอร์ไลน์ (Delta Air Lines) หรือ DAL ออกประกาศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 ม.ค. 2018 ให้ผู้โดยสารที่ใช้กระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะ ต้องถอดแบตเตอรี่ออกจากกระเป๋าก่อนเดินทางขึ้นเครื่อง
– สายการบินอลาสกาแอร์ไลน์ (Alaska Airlines) หรือ ALK ก็มีประกาศให้ผู้โดยสารนำแบตเตอรี่ออกจากกระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะก่อนขึ้นเครื่องเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการนำสัมภาระขึ้นเครื่องแบบ Carry on
ไม่ใช่แค่กระเป๋าแต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ห้ามนำขึ้นเครื่อง
นอกจากกระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจฉริยะแล้ว ยังมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายประเภท ที่เกือบทุกสายการบินมีประกาศห้ามนำขึ้นเครื่องเด็ดขาด โดยเฉพาะสิ่งของที่มีแบตเตอรี่ลิเทียมเป็นส่วนประกอบสำคัญ หรือวัตถุที่อาจเกิดประกายไฟได้ง่าย เช่น
– แบตเตอรี่สำรอง หรือ Power Bank ที่มีความจุไฟฟ้าไม่เกิน 32,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่เกินคนละ 2 ชิ้น
– ยานพาหนะขนาดเล็กส่วนบุคคลที่ใช้แบตเตอรี่ลิเทียมในการขับเคลื่อน เช่น สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
– วัตถุไวไฟ หรือ วัตถุระเบิดทุกชนิด เช่น น้ำมันไฟแช็ก เชื้อเพลิงแข็ง เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระเบิดหรือเพลิงไหม้
– สารอันตราย เช่น สารกำจัดแมลง สารหนู วัตถุออกซิไดซ์ แอมโมเนียมไนเตรท เป็นต้น
แม้ว่า “กระเป๋าเดินทางไฟฟ้าอัจริยะ” จะถูกห้ามนำขึ้นเครื่องจากบางสายการบินหากไม่ถอดแบตเตอรี่ออกก่อน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปไกลมากจนทำให้กระเป๋ารุ่นใหม่ๆ สามารถถอดแบตเตอรี่แยกออกจากตัวกระเป๋าได้ จะมีก็แค่เพียงกระเป๋ารุ่นเก่าบางรุ่นเท่านั้น ที่มีแบตเตอรี่ไม่สามารถถอดออกได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การประกาศข้อห้ามดังกล่าวของบางสายการบิน ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารส่วนรวม รวมถึงลูกเรือ และนักบินที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดอีกด้วย
บทความโดย กรุงเทพธุรกิจ
อ้างอิงข้อมูล : TNT, Starlux Airlines, Mgr Online และ คม ชัด ลึก
————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 13 พ.ค. 2566
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/1068157