การรถไฟของอินเดียทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อฟื้นสภาพรางรถไฟ หลังเกิดเหตุรถไฟชนกัน ครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมที่จุดกระแสความกังวล เกี่ยวกับเครือข่ายระบบรางขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลกอีกครั้ง
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟให้ทันสมัย ด้วยงบประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 ล้านล้านบาท) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการเชื่อมต่อของอินเดีย โดยให้รถไฟเป็นรูปแบบการเดินทางระยะไกลที่ต้องการ และมีราคาถูกที่สุด สำหนับประชาชนและการขนส่งสินค้า ทว่าเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว โมดีกลับพบซากรถไฟ 3 ขบวนในสภาพพังยับเยิน และแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตเกือบ 300 ราย
ผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า เหตุรถไฟชนกันที่เขตบาลาซอร์ ในรัฐโอริสสา ทางตะวันออกของอินเดีย บ่งชี้ระบบรถไฟที่ซับซ้อนและล้าสมัยของประเทศ ยังคงต้องพัฒนากันอีกยาวไกล
“ความล้มเหลวในการดำเนินงานเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการรถไฟของอินเดีย” นายสุพจน์ เชน อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการรถไฟอินเดีย กล่าว “ขณะนี้ กลไกด้านความปลอดภัยมีความมั่นคงมากขึ้น แต่มันอยู่ระหว่างดำเนินการ”
Guardian News
การรถไฟอินเดีย ซึ่งเป็นเครือข่ายรถไฟขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก ให้บริการรถไฟราว 14,000 ขบวนต่อวัน บนระบบรางขนาดใหญ่ที่มีความยาวรวมกันประมาณ 64,000 กิโลเมตร แม้การให้บริการสามารถรองรับผู้โดยสารมากกว่า 21 ล้านคนต่อวัน แต่เครือข่ายนี้ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลในอินเดีย จากการเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เมื่อไม่นานมานี้
ด้าน นายอัศวินี ไวศนาว รมว.การรถไฟอินเดีย กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของเหตุการณ์รถไฟชนกันครั้งนี้ เกิดจาก “การส่งสัญญาณที่ผิดพลาด” แต่เขาระบุเสริมว่า มันไม่ใช่เรื่องเหมาะสมในการให้รายละเอียดก่อนที่จะมีรายงานการสอบสวนขั้นสุดท้าย พร้อมกับยืนยันว่า สามารถระบุตัวบุคคลที่รับผิดชอบได้แล้ว ขณะที่โมดี ให้คำมั่นว่าจะลงโทษผู้เกี่ยวข้องทุกคน “โดยไม่มีข้อยกเว้น”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินเดียทุ่มเงินมหาศาลเพื่อยกระดับเครือข่ายรถไฟของประเทศ, ให้บริการรถไฟด่วน, สร้างสถานีรถไฟที่ทันสมัย, จัดวางรางใหม่ และติดตั้งระบบส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ กระนั้น นางชายา วรรมา สิงห์ สมาชิกของคณะกรรมการการรถไฟอินเดีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า แม้อินเดียจะมีระบบป้องกันการชนที่เรียกว่า “คาวัช” (Kavach) ซึ่งแปลว่า “เกราะป้องกัน” ในภาษาฮินดี แต่มันไม่สามารถหยุดหายนะได้
ตามบันทึกของทางการอินเดีย มีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ย 20,000 คนในอุบัติเหตุทางรถไฟรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชนกัน, การตกราง และสาเหตุอื่น ๆ ระหว่างปี 2560-2564 โดยการตกรางมีสัดส่วนถึง 69% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากปัญหารางชำรุดเสียหาย, การซ่อมบำรุงที่ไม่ดี และชุดส่งสัญญาณเก่า ประกอบกับข้อผิดพลาดของมนุษย์
ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งขยายตัวเร็วที่สุดในโลก มันต้องใช้เวลามากกว่านี้ ในการปรับปรุงเครือข่ายรถไฟของประเทศให้ดียิ่งขึ้น.
บทความ : สังคมโลก : ถอดบทเรียน
โดย เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP
————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 8 มิ.ย.66
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2409182/