เมื่อไม่นานมานี้ เกาหลีเหนือเพิ่งทดสอบขีปนาวุธวิถีโค้งข้ามทวีป (ICBM) ที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้เชื้อเพลิงลักษณะนี้กับจรวดขีปนาวุธพิสัยไกล และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มศักยภาพทางการรบของกรุงเปียงยางด้วยความสามารถเตรียมตัวยิงภายในระยะเวลาอันสั้น
แต่ ‘เชื้อเพลิงแข็ง’ ที่ว่านี้ คืออะไร แล้วทำไมเกาหลีเหนือถึงเร่งพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวมาเสริมโครงการขีปนาวุธของตน
เทคโนโลยี ‘เชื้อเพลิงแข็ง’ คืออะไร
โดยหลัก ๆ แล้ว เทคโนโลยีเชื้อเพลิงแข็ง คือ การผสมเชื้อเพลิงและตัวออกซิไดเซอร์ หรือสารตัวให้ออกซิเจน เข้าด้วยกัน โดย ผงโลหะ เช่น อะลูมิเนียม มักถูกใช้เป็นเชื้อเพลิง และแอมโมเนียม เปอร์คลอเรต ก็เป็นตัวออกซิไดเซอร์ที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด
เชื้อเพลิงและตัวออกซิไดเซอร์จะถูกผนวกเข้ากันด้วยวัสดุยางแข็งและบรรจุอยู่ในปลอกโลหะ เมื่อจรวดที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งเผาไหม้ ออกซิเจนจากแอมโมเนียม เปอร์คลอเรตจะรวมเข้ากับอะลูมิเนียมเพื่อผลิตพลังงานมหาศาลและอุณหภูมิมากกว่า 2,760 องศาเซลเซียส ที่สร้างแรงขับและส่งให้ขีปนาวุธออกจากแท่นยิงได้
ใครมีเทคโนโลยีนี้อยู่ในมือบ้าง
จีนคือผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยีเชื้อเพลิงแข็งมาตั้งแต่เมื่อหลายศตวรรษก่อน เพื่อใช้กับดอกไม้ไฟ และก่อนจะมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ด้วยงานพัฒนาของฝั่งสหรัฐฯ
ในแง่การใช้งานกับขีปนาวุธนั้น สหภาพโซเวียตยิงขีปนาวุธข้ามทวีป RT-2 ซึ่งใช้เชื้อเพลิงแข็งเป็นครั้งแรกของในช่วงต้นทศวรรษ 1970 หลังจากนั้นฝรั่งเศสได้พัฒนา S3 หรือ SSBS ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยกลางที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ ส่วนจีนเริ่มทดสอบจรวดที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990
และในเดือนเมษายนปีนี้เอง เกาหลีใต้ประกาศว่า ตนก็มีเทคโนโลยีขีปนาวุธที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง “ซึ่งมีประสิทธิภาพและล้ำสมัย” ด้วยเช่นกัน
เปรียบเชื้อเพลง “แข็ง” และ “เหลว”
เชื้อเพลิงแบบเหลวนั้นให้พลังและแรงขับที่มากกว่า แต่มีน้ำหนักมากและต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน ในขณะที่ เชื้อเพลิงแบบแข็งมีความหนาแน่นและเผาไหม้ค่อนข้างเร็ว ทำให้เกิดแรงขับภายในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังสามารถเก็บรักษาไว้เป็นเวลานานโดยไม่เสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเชื้อเพลิงแบบเหลว
แวน วาน ดีเพน อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันทำงานร่วมกับโครงการ 38 North กล่าวว่า ขีปนาวุธเชื้อเพลิงแข็งใช้งานง่าย ปลอดภัยกว่า และไม่ยุ่งยากในเรื่องการขนส่ง ทั้งยังตรวจจับได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับอาวุธเชื้อเพลิงแบบเหลว
ส่วน อันกิต แพนดา นักวิชาการอาวุโสจาก Carnegie Endowment for International Peace ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ประเทศใดก็ตามที่มีกองกำลังนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ย่อมแสวงหาขีปนาวุธที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงแข็ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเติมเชื้อเพลิงทันทีในช่วงก่อนการยิง ซึ่งเป็นสมรรถภาพที่เหมาะสมกว่าในการตอบโต้ต่อการโจมตีใด ๆ ในเวลาวิกฤต
อนาคตจากนี้คือ ?
หลังการทดสอบเชื้อเพลิงดังกล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ เกาหลีเหนือได้แถลงว่า การพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป Hwasong-18 ที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง จะช่วยเสริมสร้างการต่อต้านการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ได้อย่างมาก
แต่กระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ก็ได้ออกแถลงการณ์แย้งสิ่งที่เกาหลีเหนือพยายามดำเนินการ โดยกล่าวว่า กรุงเปียงยางยังต้องการ “เวลาและความพยายามเพิ่มเติม” เพื่อให้เกิดความชำนาญในเทคโนโลยีดังกล่าว
อันกิต พานดา นักวิชาการอาวุโสจาก Carnegie Endowment for International Peace เห็นด้วยกับการประเมินของเกาหลีใต้ แต่ก็กล่าวเตือนว่า แม้ขีปนาวุธ Hwasong-18 อาจจะไม่ใช่ “ตัวพลิกสถานการณ์” แต่น่าที่จะทำให้การวิเคราะห์และการคำนวณต่าง ของสหรัฐฯ รวมถึงประเทศพันธมิตร มีความซับซ้อนมากขึ้น ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน
พานดา ยังย้ำด้วยว่า “สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสหรัฐฯ และพันธมิตร คือ การลดความเสี่ยงจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์และการยกระดับของสถานการณ์อันเกิดจากการที่เกาหลีเหนือมีอาวุธเหล่านี้อยู่ในมือ”
บทความโดย voathai
ที่มา รอยเตอร์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : voathai / วันที่เผยแพร่ 14 มิ.ย.2566
Link : https://www.voathai.com/a/what-is-solid-fuel-technology-and-why-is-north-korea-eager-to-develop-it-/7062785.html