‘พายุสุริยะ’ คืออะไร เพราะเหตุใด นาซารวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญให้จับตา ทำลายระบบไฟฟ้า “อินเทอร์เน็ตล่ม” ทั่วโลก ทวีความรุนแรงในปี 2025
“พายุสุริยะ” กำลังเป็นที่พูดถึงและถูกจับตามองจากทั่วโลก รวมไปถึง NASA และผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่า พายุสุริยะกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่า จะถึงจุดสูงสุดในปี 2025 พร้อมคาดการณ์กันอีกว่า มีโอกาสที่จะทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตล่มทั่วโลก และหากเกิดขึ้นจริง ก็อาจทำให้อินเทอร์เน็ตล่มยาวนานนับเดือน
พายุสุริยะ คืออะไร เหตุใดถึงมีอนุภาค ทำให้กระทบต่อระบบไฟฟ้าบนโลก ในประวัติศาสตร์เมื่อปี 1859 พายุสุริยะ เคยทำให้ระบบโทรเลขล่ม ต่อมาในปี 1989 ก็ทำให้ไฟฟ้ารัฐควิเบกดับนาน 12 ชั่วโมง
ด้าน คีธ สตรอง นักฟิสิกส์พลังงานแสงอาทิตย์และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสภาพอากาศอวกาศที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนจุดดับ (Sunspot) บนดวงอาทิตย์เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา สูงถึง 163 จุด และสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2002 โดยอาจส่งผลให้เกิดพายุสุริยะรุนแรงกระทบมาถึงโลกของเรา
พายุสุริยะ คืออะไร
พายุสุริยะ (Solar storm) เป็นปรากฏการณ์หนึ่ง ที่เกิดจากการที่ผิวดวงอาทิตย์ระเบิดขึ้นมาที่เรียกว่า “การระเบิดลุกจ้า” ซึ่งทำให้อนุภาคประจุไฟฟ้าพุ่งออกมาจำนวนมหาศาล ประจุไฟฟ้าที่พุ่งออกมานี้ จะรบกวนระบบการสื่อสาร ส่งผลทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมเป็นอัมพาต เช่น ทำให้เครื่องบินไม่สามารถติดต่อกับหอบังคับการได้ โทรศัพท์มือถือใช้งานไม่ได้ รวมไปถึงดาวเทียมเสียหาย
การทำนายความรุนแรงของพายุสุริยะ สามารถทำได้โดยตรวจสอบจุดมืดดวงอาทิตย์ เนื่องจากจุดมืดเกิดจากความแปรปรวนของสนามแม่เหล็ก เมื่อมีจุดมืดมากขึ้นก็จะส่งผลให้อนุภาคกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
พายุสุริยะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สาเหตุการเกิดของพายุสุริยะจำแนกการเกิดได้เป็น 4 รูปแบบดังนี้
1. ลมสุริยะ
ลมสุริยะ (solar wind) เกิดจากการขยายตัวของโคโรนาของดวงอาทิตย์ที่มีพลังงานความร้อนที่สูงขึ้น เมื่อขยายตัวจนอนุภาคหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์ และหนีออกจากดวงอาทิตย์ไปทุกทิศทาง จนครอบคลุมระบบสุริยะ โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นบริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ ที่มีโพรงโคโรนาขนาดใหญ่ ซึ่งโพรงโคโรนาเป็นที่มีลมสุริยะความเร็วสูงและรุนแรงพัดออกมาจากดวงอาทิตย์ในบริเวณนั้น
ในขณะที่ลมสุริยะที่เกิดขึ้นบริเวณแนวใกล้ศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์ จะมีความเร็วต่ำ ลมสุริยะที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของโคโรนาในแนวศูนย์สูตรดวงอาทิตย์นี้ มีความเร็วเริ่มโดยเฉลี่ยประมาณ 450 กิโลเมตรต่อวินาที หลังจากนั้นจะเร่งความเร็วจนถึงราว 800 กิโลเมตรต่อวินาที
2. เปลวสุริยะ
เปลวสุริยะ (solar flare) เกิดจากการระเบิดอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ชั้นโครโมสเฟียร์ และมักเกิดขึ้นเหนือรอยต่อระหว่างขั้วของสนามแม่เหล็ก เช่นบริเวณกึ่งกลางของจุดดำแบบคู่หรือท่ามกลางกระจุกของจุดดำที่มีสนามแม่เหล็กปั่นป่วนซับซ้อน ซึ่งปล่อยพลังงานในรูปของแสงและคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าแบบต่างๆ ออกมาอย่างรุนแรง
3. การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา
การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (Coronal mass ejection, CME) นักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นอย่างไร แต่พบว่ามันมักเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์อื่นที่เกิดขึ้นระดับโคโรนาชั้นล่าง บ่อยครั้งที่พบว่า เกิดขึ้นร่วมกับเปลวสุริยะและโพรมิเนนซ์ แต่บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีปรากฏการณ์สองอย่างนี้เลย
นอกจากนี้ความถี่ในการเกิดยังแปรผันตามวัฏจักรของดวงอาทิตย์อีกด้วย ในช่วงใกล้เคียงกับช่วงต่ำสุดของดวงอาทิตย์อาจเกิดประมาณสัปดาห์ละครั้ง หากเป็นช่วงใกล้กับจุดสูงสุดของดวงอาทิตย์ ก็อาจเกิดขึ้นบ่อยถึงประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน
4. อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์
อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ หรือ พายุสนามแม่เหล็กโลก (Geomagnetic storm) อาจเกิดขึ้นได้ 2 แบบ แบบแรกเกิดพร้อมกับเปลวสุริยะ ส่วนอีกแบบหนึ่งเกิดจากการที่การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนาความเร็วสูงพุ่งแหวกไปในกระแสลมสุริยะ ทำให้เกิดคลื่นกระแทกเข้ากับสนามแม่เหล็กโลก โดยอนุภาคสุริยะพลังงานสูงจะเกิดขึ้นในบริเวณคลื่นกระแทกนี้
“พายุสุริยะ” ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร
• พายุแม่เหล็กโลก เกิดจากลมสุริยะ และการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา
• พายุรังสีสุริยะ เกิดจาก อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์
• การขาดหายของสัญญาณวิทยุ เกิดจากเปลวสุริยะ และอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์
“อ.เจษฎ์” รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า โดยปกติแล้ว ลมสุริยะ ซึ่งก็คือกระแสของรังสีคอสมิกที่ออกมาจากดวงอาทิตย์ เป็นประจำอยู่แล้ว จะมี “วงรอบ” ของความรุนแรง เพิ่มขึ้นทุก 11 ปี ซึ่งก็จะมาครบในปี 2025 นี้
ประเด็นคือ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากระบบอินเทอร์เน็ต และระบบไฟฟ้าอื่นๆ อันเกิดจากผลกระทบของลมสุริยะรุนแรง ต่อพวกดาวเทียมและระบบสายส่งไฟฟ้า (ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะแรงขนาดไหน อาจไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ หรือถ้าคิดให้แย่สุด ก็อาจจะทำให้อินเทอร์เน็ตล่มเป็นเดือน) ทางนาซ่าก็เลยพยายามพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา เพื่อตรวจจับให้ได้ล่วงหน้าทันท่วงที ระบบต่างๆ จะได้ป้องกันตัวเองได้ทัน ไม่ควรแตกตื่น
ลมสุริยะไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อสุขภาพของมนุษย์ อย่างมากก็ได้เห็นแสงเหนือ แสงใต้งดงามมากขึ้น ตามพื้นที่ใกล้ขั้วโลก ไม่ได้เกิดผลกระทบต่อสภาพพื้นโลก เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือโลกหยุดหมุน แบบในหนังด้วย
————————————————————————————————————————-
ที่มา : springnews / วันที่เผยแพร่ 5 ก.ค. 2566
Link : https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/840716