“นาโต” ยกระดับการรักษาความปลอดภัยประชุมผู้นำ 31 ชาติ ในลิทัวเนียเข้ม ท่ามกลางสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้การเตรียมการเพื่อรักษาความปลอดภัยเข้มงวด
วันที่ 11 กรกฎาคมนี้ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต) จะมีการประชุมสุดยอดหรือการประชุมระดับผู้นำของชาติสมาชิก 31 ชาติที่กรุงวิลนิอุส เมืองหลวงของประเทศลิทัวเนีย การประชุมที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามในยูเครนที่ยังดุเดือดทำให้การเตรียมการเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับผู้นำชาตินาโตมีความเข้มงวดและหนาแน่นมากกว่าปกติที่เคยทำมา
โดยนาโตได้ติดตั้งระบบป้องการภัยทางอากาศแพทริออตจำนวน 8 ชุด รอบบริเวณสนามบินวิลนิอุส โดยหันลำกล้องไปทางเบลารุส และคาลินินกราด ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
สะท้อนว่านาโตเตรียมพร้อมสำหรับการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นแล้ว เพื่อรับผู้นำประเทศสมาชิกนาโตที่จะมาเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11-12 กรกฎาคมนี้ เหตุผลที่นาโตยกระดับการรักษาความปลอดภัยขึ้นสูงสุดเนื่องจากกรุงวิลนิอุส เมืองหลวงของลิทัวเนียซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมอยู่ห่างจากชายแดนของประเทศเบลารุสเพียง 20 ไมล์หรือ 32 กิโลเมตรเท่านั้น เบลารุสคือพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของรัสเซียและเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่สำคัญของสงครามยูเครน เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียและประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุส ที่นี่ถูกใช้เป็นหนึ่งในจุดที่รัสเซียยกทัพเข้าบุกยูเครนทางทิศเหนือเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022
ชาติในยุโรปโดยเฉพาะประเทศที่มีชายแดนติดกันจึงไม่วางใจเบลารุส เหตุการณ์ล่าสุดที่ยิ่งทำให้บรรดาชาติยุโรปหวาดระแวงเบลารุสคือ การเชิญทหารรับจ้างของรัสเซียอย่างกลุ่มแวกเนอร์ให้เข้ามาตั้งฐานที่มั่นในเบลารุสหลังจากกลุ่มแวกเนอร์หลังก่อกบฎในรัสเซียไม่สำเร็จ
โดยปรากฎภาพค่ายที่เตรียมไว้ให้กับกองกำลังแวกเนอร์ในหมู่บ้านทเซล ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมินสก์ เมืองหลวงของประเทศประมาณ 90 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ ค่ายแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่เยฟเกนี ปริโกชิน หัวหน้ากลุ่มแวกเนอร์ตกลงไว้กับกระทรวงกลาโหมรัสเซีย โดยมีเบลารุสเป็นคนกลาง หลังแผนการก่อกบฏถูกยกเลิก และเจ้าตัวลี้ภัยมายังเบลารุส
ลีโอนิด คาซินสกี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของเบลารุสระบุว่า ทางกลาโหมพร้อมต้อนรับทหารแวกเนอร์ ทั้งยังคาดหวังด้วยว่า ความรู้และความสามารถของทหารรับจ้างรัสเซียจะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพเบลารุส
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ เลอ มงด์ (Le Monde) ได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยชื่อในหน่วยข่าวกรองของลิทัวเนีย ว่าเบลารุสอาจขัดขวางการประชุมโดยแสร้งทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ อีกทั้งยังมีข้อมูลออกมาด้วยว่า อาจมีการดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ระหว่างการประชุม ความเคลื่อนไหวเหล่านี้นำมาซึ่งความกังวลต่อประเทศเจ้าภาพการประชุมอย่างลิทัวเนีย และเป็นเหตุผลให้ต้องยกระดับความมั่นคงและปลอดภัยขั้นสูงสุดด้วยกองกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ของหลายชาติ
สำหรับกำลังพลที่ใช้การป้องกันความปลอดภัย มีรายงานว่าบรรดาชาติพันธมิตรนาโต 16 ประเทศตัดสินใจส่งทหารจำนวน 1,000 นายเพื่อรักษาความปลอดภัยในช่วงที่มีการจัดการประชุม ซึ่งเมื่อรวมกับทหารจากกองทัพลิทัวเนียที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ด้วยแล้ว จะมีทหารประจำการรวม 4,000 นาย
ส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันการโจมตีที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้นั้น ประเทศเยอรมนีได้เคลื่อนย้ายระบบป้องกันทางอากาศ “แพทริออต” ทั้งหมดจำนวน 12 ชุดมาติดตั้งในลิทัวเนีย เพื่อใช้ป้องกันภัยทางอากาศ สกัดขีปนาวุธ ขีปนาวุธร่อน และการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบิน อีกทั้งยังมีการติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ NASAMS จากสเปนเช่นกัน
ขณะเดียวกันยังมีอาวุธอื่นๆ อีกเช่น ปืนใหญ่อัตตาจร Caesar จากฝรั่งเศส เครื่องบินรบขับไล่จากฝรั่งเศส ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ระบบตรวจจับโดรนจากสหราชอาณาจักร ส่วนประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็ได้มีการส่งอุปกรณ์เพื่อรับมือต่อการโจมตีด้วยอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรือนิวเคลียร์
ขณะที่ตามแนวชายแดนลิทัวเนียที่ติดกับเบลารุสก็มีการเพิ่มกำลังเต็มพิกัดเช่นกัน โดยได้เพิ่มจำนวนหน่วยป้องกันชายแดนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในจำนวนนี้บางส่วนเป็นเจ้าหน้าที่ที่โปแลนด์และลัตเวียส่งเข้ามาช่วยประจำการ ผู้บัญชาการหน่วยป้องกันชายแดนระบุว่า สถานการณ์ตามแนวชายแดนตึงเครียดกว่าปกติ แม้ว่าบรรยากาศจะตึงเครียด แต่ประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดนยังมั่นใจว่ากลุ่มแวกเนอร์หรือเบลารุสจะไม่กล้าทำอะไร เพราะลิทัวเนียเป็นประเทศสมาชิกนาโต ซึ่งหมายความว่าลิทัวเนียจะได้รับการคุ้มครองจากประเทศสมาชิกนาโต หากมีการโจมตีเกิดขึ้น
ลิทัวเนียตั้งอยู่ริมทะเลบอลติกเป็นประเทศที่มีพื้นที่เชื่อมหรือติดกับบริเวณที่เป็นความสำคัญอย่างยิ่งในทางยุทธศาสตร์ของนาโตในวันที่สงครามในยูเครนกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด
นอกเหนือจากมีแนวชายแดนติดกับเบลารุสแล้ว อีกจุดหนึ่งซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่อาจเกิดความตึงเครียดได้คือด้านตะวันตก เนื่องจากติดกับแคว้นคาลินินกราด แผ่นดินเล็กของรัสเซียริมทะเลบอลติก คาลินินกราดไม่มีส่วนใดติดกับแผ่นดินใหญ่รัสเซียเลย การเดินทางเข้าออกทางบกทำได้ด้วยการผ่านช่องสุวาลกิ เส้นทางเล็กๆ ที่ตัดผ่านประเทศลิทัวเนียเพื่อต่อไปที่ประเทศเบลารุสเพื่อเข้าสู่แผ่นดินใหญ่รัสเซีย คาลินกราดถือเป็นปราการด่านสุดท้ายของรัสเซียในแถบบอลติก เพราะทุกประเทศที่มีชายแดนติดกับแคว้นคาลินินกราดกลายเป็นสมาชิกนาโตไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย รวมถึงฟินแลนด์ ด้วยความสำคัญทางยุทธศาสตร์ รัสเซียจึงมีการติดตั้งระบบขีปนาวุธที่ทันสมัยและสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ไว้เต็มพิกัดไว้ที่คาลินินกราด
ขณะที่ประชาชนในเมืองหลวงของลิทัวเนียก็มีการเคลื่อนไหว ขึ้นป้ายเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านประธานาธิบดีปูติน รวมถึงสนับสนุนยูเครนและนาโต บรรยากาศล่าสุดในเมืองหลวงลิทัวเนีย มีการขึ้นป้าย เช่น “PUTIN, THE HAGUE IS WAITING FOR YOU” และหลายบ้านขึ้นป้าย “UKRAINE, NATO”ต้อนรับการประชุมระดับสูงขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้
นี่เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ผู้นำประเทศในกลุ่มสมาชิกนาโตได้ร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงและการป้องกันร่วมระหว่างชาติสมาชิก โดยที่ประชุมจะพูดคุยถึงวาระต่อเนื่องจากการประชุมเมื่อปีที่แล้ว เช่น การให้ความสนับสนุนยูเครน ความคืบหน้าในการฝึกฝนทางการทหาร การเพิ่มสัดส่วนงบประมาณทางกลาโหมเป็น 2% ต่อ GDP ของชาติสมาชิกตามที่นาโตกำหนดไว้
แต่หนึ่งในเรื่องที่กลายเป็นประเด็นร้อนตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครน คือการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของชาติยุโรปที่ยังไม่ได้มีสถานะเป็นชาติสมาชิก โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฟินแลนด์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตลำดับที่ 31 แล้ว ส่วนสวีเดนและยูเครน แม้จะแสดงความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกนาโตและเข้าสู่กระบวนการสมัครสมาชิก พร้อมฟินแลนด์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ที่ผ่านมา ตุรกีและฮังการีคัดค้านไม่ให้สวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโต เพราะฉะนั้น การตัดสินใจรับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 32 หรือไม่จะเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้
อีกหนึ่งประเด็นที่จะเป็นวาระในการประชุมคือ ความเป็นไปได้ที่ยูเครนจะเข้าร่วมนาโต ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางท่ามกลางสถานการณ์ร้อนแรงในสงคราม สาเหตุที่หลายชาติยุโรปต้องการสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต เนื่องจากต้องการได้รับการประกันความมั่นคงร่วมตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรนาโตมาตราที่ 5 หากนาโตรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก นั่นหมายความว่าเขตแดนของประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย จะกลายเป็นประเทศสมาชิกนาโตเกือบทั้งหมด
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTV / วันที่เผยแพร่ 10 ก.ค.66
Link : https://www.pptvhd36.com/news/A8/200697