ทัพเรือไทย-จีน ร่วมฝึกผสม BLUE STRIKE 2023 ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ เพื่อเสริมสร้างความรู้ แลกเปลี่ยนระหว่างกันกับปฏิบัติการทางยุทธวิธีของนาวิกโยธินแบบหน่วยทหารขนาดเล็ก
เมื่อวัน 3 ก.ย. 66 พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และ พล.ร.ต.เฉิน เว่ย ตง (Chen Weidong) ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน/รองผู้บัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน/ผู้อำนวยการฝึกผสม BLUE STRIKE 2023 ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึก ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
การฝึกผสม BLUE STRIKE 2023 ระหว่างกองทัพเรือไทย กับ กองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน กำหนดจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 กันยายน พ.ศ.2566 ณ พื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยเป็นไปตามนโยบายด้านยุทธการและการฝึก ที่กำหนดให้ดำรงการฝึกกับกองทัพเรือมิตรประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการเสริมสร้างมิตรภาพ พัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติ หรือ HADR ในระดับนานาชาติได้
การฝึกผสม BLUE STRIKE 2023 มีวัตถุประสงค์การฝึกเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในด้านการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) และการปฏิบัติการทางเรือ รวมทั้งการฝึกปฏิบัติการทางยุทธวิธีของนาวิกโยธินแบบหน่วยทหารขนาดเล็ก การสร้างความคุ้นเคยกับเรือดำน้ำ ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
ในการนี้ กองทัพเรือ มอบหมายให้ พล.ร.ต.อาภา ชพานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสม BLUE STRIKE 2023 ในส่วนของทางฝ่ายจีนมอบหมายให้ พล.ร.ต.เฉิน เว่ย ตง รองผู้บัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยฝึก กองทัพเรือไทยได้จัดเรือเข้าร่วมการฝึกฯ ได้แก่ เรือหลวงช้าง เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP)
ซึ่งเป็นเรือที่มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการฝึกตามหัวข้อที่กำหนด และส่งผลให้กำลังพลกองทัพเรือทั้งจากกองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยที่เกี่ยวข้องจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกฯ ประกอบด้วยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์บนฝั่ง (ICC) ชุดประเมินความเสียหาย (LDAT-NDAT) ชุดค้นหาและช่วยเหลือฯ (USAR) ชุดปฏิบัติการแพทย์ และชุดปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์อย่างละ 1 ชุด และกำลังพลนาวิกโยธิน พร้อมยุทโธปกรณ์รวมผู้เข้ารับการฝึกทั้งสิ้น จำนวน 1,553 นาย
ในส่วนของหมู่เรือฝึกของกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน มีจำนวน 4 ลำ ประกอบด้วย เรือยกพลขึ้นบก CNS Simingshan (989), เรือฟริเกต CNS Anyang, เรือส่งกำลังบำรุง CNS Chaohu และ เรือดำน้ำ CNS Chang Cheng กำลังนาวิกโยธินพร้อมยุทโธปกรณ์และกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกในหัวข้อต่างๆ รวมผู้เข้ารับการฝึกทั้งสิ้น จำนวน 953 นาย รวมผู้เข้ารับการฝึกทั้ง 2 ฝ่าย เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,506 นาย.
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 3 ก.ค.66
Link : https://www.thairath.co.th/news/local/east/2722291?gallery_id=8