สถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลางปะทุเดือดขึ้นอีกครั้ง เมื่อกลุ่มติดอาวุธฮามาสในปาเลสไตน์เปิดฉากโจมตีอิสราเอลทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางบก เมื่อวานนี้ (7 ตุลาคม) โดยไม่มีสัญญาณบอกเหตุ ส่งผลให้อิสราเอลตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดถล่มฉนวนกาซา ซึ่งเหตุการณ์สู้รบล่าสุดนี้ ถือเป็นการยกระดับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปี ขณะที่มีรายงานว่า มีแรงงานไทยถูกฮามาสที่แทรกซึมเข้ามาในอิสราเอลจับเป็นตัวประกันด้วย
กลุ่มฮามาสคือใคร
กลุ่มติดอาวุธฮามาส (Hamas) หรือขบวนการต่อต้านเพื่ออิสลาม (Islamic Resistance Movement) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 ในช่วงอินติฟาดา (Intifada) หรือการลุกฮือครั้งแรกของชาวปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล กลุ่มฮามาสได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งนับถืออิสลาม นิกายชีอะห์ และสืบทอดอุดมการณ์จากขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในอียิปต์เมื่อทศวรรษ 1920
กลุ่มฮามาสปกครองฉนวนกาซามาตั้งแต่ปี 2007 หลังการทำสงครามกลางเมืองช่วงสั้น ๆ กับกองกำลังที่จงรักภักดีต่อกลุ่มฟาตาห์ (Fatah) นำโดย มาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ผู้ซึ่งเป็นผู้นำองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ด้วย
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างฮามาสกับอิสราเอลขึ้นหลายครั้ง เนื่องจากฮามาสปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐอิสราเอล และต่อต้านข้อตกลงสันติภาพออสโล (Oslo Peace Accords) อย่างรุนแรง โดยข้อตกลงสันติภาพออสโลเกิดจากการเจรจาร่วมกันระหว่างอิสราเอลกับ PLO ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ซึ่งเนื้อหาสาระของข้อตกลง คือ การที่ปาเลสไตน์รับรองสถานะความเป็นประเทศของอิสราเอล ขณะเดียวกันอิสราเอลเองก็รับรองสถานะของ PLO ว่าเป็นตัวแทนปาเลสไตน์ โดยปกครองดินแดนบางส่วนของเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา
กลุ่มฮามาสมีกองกำลังติดอาวุธ ที่เรียกว่า กองพลน้อยอิซ เอล-ดีน อัล-กัสซัม (Izz el-Deen al-Qassam Brigades) ซึ่งส่งมือปืนและมือระเบิดฆ่าตัวตายเข้าไปในอิสราเอลอยู่เนือง ๆ ฮามาสเรียกการกระทำของตนว่าเป็นการต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล
ในขณะที่ อิสราเอล, สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, แคนาดา, อียิปต์ และญี่ปุ่น ประกาศให้กลุ่มฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้าย แต่ก็ใช่ว่าฮามาสจะโดดเดี่ยว ไม่มีพวกพ้อง เพราะฮามาสมีพันธมิตรในภูมิภาคที่ล้วนต่อต้านนโยบายของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางและอิสราเอล ประกอบด้วยอิหร่าน ซีเรีย และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธมุสลิม นิกายชีอะห์ ในเลบานอน
นอกจากจะมีฐานอำนาจอยู่ในฉนวนกาซาแล้ว กลุ่มฮามาสยังมีผู้สนับสนุนอยู่ทั่วดินแดนปาเลสไตน์ รวมทั้งมีผู้นำกระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง อาทิ กาตาร์
เกิดอะไรขึ้นในเช้าวันเสาร์
กองพลน้อยอัล-กัสซัมของกลุ่มติดอาวุธฮามาสในปาเลสไตน์ ประกาศปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านอิสราเอล ในชื่อปฏิบัติการ ‘พายุอัลอักซอ’ (Al-Aqsa Storm) โดยระดมยิงจรวดมากถึง 5,000 ลูกถล่มเป้าหมายทั้งสนามบินและเป้าหมายทางทหารในอิสราเอลตั้งแต่ช่วงเช้าวันเสาร์ (7 ตุลาคม) โดยรายงาน ระบุว่า จรวดชุดแรกถูกยิงเมื่อเวลา 06.30 น. ของวันเสาร์ ตามเวลาท้องถิ่น (เวลา 10.30 น. ตามเวลาไทย)
นอกจากปฏิบัติการทางอากาศแล้ว กลุ่มฮามาสยังส่งกองกำลังติดอาวุธหลายสิบคน แทรกซึมเข้าไปโจมตีในหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล เช่น เมืองคิบบุตซ์เบรีและเมืองคูเซฟี ซึ่งการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันในสงคราม 11 วันเมื่อปี 2021
ขณะที่อิสราเอล ยืนยันว่า นักรบของกลุ่มฮามาสได้เข้าไปยังดินแดนอิสราเอลจริง โดย แดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอล กล่าวว่า กลุ่มฮามาสโจมตีทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
การโจมตีในช่วงเช้าตรู่เกิดขึ้นในวันหยุด Simchat Torah ของชาวยิว ซึ่งตรงกับช่วงสิ้นสุดเทศกาลอยู่เพิง หรือ Sukkot ที่กินเวลายาวนานหนึ่งสัปดาห์
ปมความขัดแย้งล่าสุดคืออะไร
หนึ่งในสมาชิกกลุ่มฮามาส ระบุสาเหตุการเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลดังกล่าวว่า เป็นการตอบโต้การกระทำของทางการอิสราเอลที่บุกมัสยิดอัล-อักซอ (Al-Aqsa) ในนครเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม และอีกเหตุผล คือ การปฏิบัติอันเลวร้ายต่อนักโทษปาเลสไตน์ในเรือนจำอิสราเอล
ขณะที่ คาเลด กาโดมี โฆษกของกลุ่มฮามาส เผยกับ Al Jazeera ว่า ปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มฮามาสเป็นการตอบโต้กลับสำหรับความโหดร้ายทั้งหมดที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญตลอดหลายทศวรรษ
“เราต้องการให้ประชาคมระหว่างประเทศยุติความโหดร้ายในฉนวนกาซาต่อชาวปาเลสไตน์และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเรา อาทิ อัล-อักซอ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุเบื้องหลังการเปิดฉากต่อสู้ครั้งนี้” โฆษกฮามาส กล่าว
“นี่เป็นวันแห่งการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพื่อยุติการยึดครองครั้งสุดท้ายของโลก” โมฮัมเหม็ด เดอิฟ ผู้บัญชาการทหารของกลุ่มฮามาส กล่าว
การตอบโต้ของอิสราเอล
กองทัพอิสราเอลประกาศเปิด ‘ปฏิบัติการดาบเหล็ก’ (Operation Iron Swords) เพื่อต่อต้านกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ขณะเดียวกันก็เตือนชาวอิสราเอลที่อาศัยอยู่ใกล้ฉนวนกาซาว่าให้อยู่แต่ภายในบ้านหรือไปหลบภัยที่ศูนย์พักพิง
ด้านนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวว่า ประเทศกำลังอยู่ในภาวะสงคราม และอิสราเอล ‘จะชนะ’ ในสงครามนี้
เช่นเดียวกับ โยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหม ที่กล่าวว่า “อิสราเอลจะชนะสงครามครั้งนี้” เขากล่าวด้วยว่า กลุ่มฮามาสทำพลาดร้ายแรงเมื่อเช้านี้ ด้วยการเปิดฉากทำสงครามกับรัฐอิสราเอล
สถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร
กองทัพอิสราเอลเปิดเผยว่า ได้ส่งเครื่องบินรบหลายสิบลำโจมตีเป้าหมายของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ขณะที่ Times of Israel รายงานว่า กองทัพอิสราเอลกำลังต่อสู้กับนักรบฮามาสใน 7 จุดทางตอนใต้ของอิสราเอล ใกล้กับรั้วฉนวนกาซา นอกจากนี้ ยังมีการยิงสู้รบเกิดขึ้นในหลายเมือง โดยรายงานข่าว ระบุว่า กลุ่มมือปืนได้เปิดฉากยิงใส่ผู้คนที่สัญจรไปมาในเมืองสเดรอต และคลิปวิดีโอที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย เผยให้เห็นภาพการปะทะกันตามท้องถนนในเขตเมือง ส่วนในชนบทนั้นมีภาพกลุ่มมือปืนขับรถจี๊ปตระเวนไปทั่ว
สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตของทั้งสองฝั่งล่าสุดนั้น (อัปเดตเมื่อเวลา 00.57 น. ของวันที่ 8 ตุลาคม ตามเวลาประเทศไทย) หน่วยบริการเหตุฉุกเฉินอิสราเอลประมาณการว่า มีผู้เสียชีวิตในอิสราเอลราว 70 คน และมีอีกหลายร้อยคนบาดเจ็บสาหัส
ขณะที่ CNN รายงานอ้างการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ ระบุว่า ที่ฉนวนกาซามีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีกลับของอิสราเอลแล้วอย่างน้อย 198 คน และบาดเจ็บ 1,610 คน นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขในฉนวนกาซายังได้ออกประกาศขอรับบริจาคโลหิตที่โรงพยาบาลในเขตที่ถูกปิดล้อมแล้ว
ส่วนสถานการณ์ของแรงงานไทยนั้น กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ แจ้งว่า จากการประสานแรงงานไทยในพื้นที่ พบว่า อาจมีแรงงานไทยถูกจับไป 2 คน อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบกับทางการอิสราเอล ทางการอิสราเอลยังไม่ยืนยันข้อมูลและจะเร่งตรวจสอบให้ต่อไป
ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กองทัพอากาศเตรียมพร้อมเครื่องบินเพื่อภารกิจอพยพคนไทยในอิสราเอล หากเกิดสถานการณ์ที่จำเป็น โดยในวันนี้ ( 8 ตุลาคม) จะมีการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
ปฏิกิริยาจากนานาประเทศ
นานาประเทศ โดยเฉพาะชาติพันธมิตรของอิสราเอล เช่น สาธารณรัฐเช็ก, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ต่างออกมาประณามการเปิดฉากโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ โดยเรียกว่าเป็น ‘การก่อการร้าย’ พร้อมกันนั้นยังได้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับเทลอาวีฟ
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ออกแถลงการณ์เตือนถึง ‘ผลร้ายแรงที่จะตามมา’ จากการยกระดับความขัดแย้ง พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจสูงสุดและหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
ด้านกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนระบุในแถลงการณ์ว่า ทางกลุ่มกำลังติดตามสถานการณ์ในฉนวนกาซาอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ได้มีการติดต่อสื่อสารโดยตรงกับผู้นำของกลุ่มฮามาส
บทความโดย The Standard Team
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : The Standard / วันที่เผยแพร่ 9 ก.ค.66
Link : https://thestandard.co/hamas-israel-attack-reason/