วันที่ 18 ต.ค. จะเป็นวันที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ มีกำหนดการเยือนกรุงเทลอาวีฟ เพื่อหารือร่วมกับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เกี่ยวกับสงครามและวิกฤตมนุษธรรมในฉนวนกาซาที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมเดินทางเยือนอิสราเอลก่อนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ท่ามกลางสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส มีข้อสังเกตว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญความเสี่ยงระหว่างการเยือน
หลังจากแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงขณะเยือนอิสราเอลว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ มีกำหนดการเดินทางเยือนอิสราเอลในวันที่ 18 ต.ค.
เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวและสนับสนุนต่ออิสราเอลที่มุ่งหมายจะกำจัดกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก ขณะเดียวกันก็พยายามหาหนทางบรรเทาวิกฤตมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ที่ร้ายแรงขึ้นในทุก ๆ นาที
สื่อตะวันตกหลายเจ้าได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากจะเป็นการเยือนช่วงสงครามที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก นี่ยังเป็นการเยือนที่มีเดิมพันสูงมากของประธานาธิบดีไบเดน
ความเสี่ยงแรกเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้นำสหรัฐฯ เนื่องจากสงครามที่กำลังดำเนินอยู่อย่างดุเดือดขณะนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บริเวณฉนวนกาซาและพื้นที่ใกล้เคียง หรือบริเวณพื้นที่ภาคเหนือติดกับเลบานอนที่ต้องเผชิญการโจมตี
จากกลุ่มเฮซบอลเลาะห์แต่กลุ่มฮามาสยังโจมตีทางอากาศมายังพื้นที่อื่น ๆ บนเขตแดนอิสราเอลเช่นกัน อย่างเช่นกรุงเทลอาวีฟ
ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อวานนี้ เมื่อทั่วกรุงเทลอาวีฟดังไปด้วยเสียงไซเรนเตือนภัยว่า มีขีปนาวุธมุ่งเข้าไปที่นั่น ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กำลังประชุ่มร่วมกับนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู
และคณะรัฐมนตรีด้านสงคราม (War Cabinet) จนต้องรีบลงไปหลบภัยในบังเกอร์เป็นเวลา 5 นาที ก่อนที่จะกลับมาประชุมต่อ
ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะเกิดการโจมตีอีกหรือไม่ ระหว่างที่ผู้นำสหรัฐฯ เยือนอิสราเอล อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าความเสี่ยงอาจอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก โดย จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยว่าจะมีการเตรียมการด้านการรักษาความปลอดภัยล่วงหน้า
ส่วนอีกความเสี่ยงหนึ่งที่น่าสังเกตและต้องจับตามองคือ ความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ยังประเมินได้ยากว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะท่าทีของสหรัฐฯ ต่อสงครามงอิสราเอล-ฮามาสครั้งนี้ เนื่องจากด้านหนึ่ง แม้สหรัฐฯ จะประณามการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส และสนับสนุนการกำจัดกลุ่มฮามาสของอิสราเอลอย่างเต็มที่ แต่สหรัฐฯ ก็มีความเห็นที่ไม่ตรงกันกับอิสราเอล เกี่ยวกับการตั้งรัฐปาเลสไตน์
โดยประธานาธิบดีไบเดน ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ 60 Minutes ของสถานีโทรทัศน์ CBS ว่า สิ่งที่ควรเกิดขึ้นหากอิสราเอลสามารถกำจัดกลุ่มฮามาสได้แล้ว คือ การก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์บนแนวคิด “สองรัฐ” หรือ Two-state solution ร่วมกับรัฐอิสราเอล โดยที่อิสราเอลต้องไม่ยึดครองพื้นที่ฉนวนกาซา และต้องให้องค์การบริหารปาเลสไตน์หรือ Palestinian Authority ซึ่งเป็นผู้แทนปาเลสไตน์ที่ประชาคมโลกยอมรับอำนาจปกครองฉนวนกาซาแทน
ขณะที่อิสราเอลยังมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนว่า จะจัดการกับฉนวนกาซาอย่างไร หากกำจัดกลุ่มฮามาสได้ อย่างไรก็ดี ผู้นำอิสราเอลเป็นสายเหยี่ยวที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อแนวคิดการตั้งรัฐปาเลสไตน์
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ยังไม่วิจารณ์และไม่สามารถปรามอิสราเอล ในปฏิบัติการปิดล้อมและโจมตีฉนวนกาซา ซึ่งนำไปสู่วิกฤตมนุษยธรรมครั้งใหญ่ อีกทั้งยังไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจากับชาติพันธมิตรในตะวันออกกลางเพื่อหาทางบรรเทาวิกฤตมนุษยธรรมที่เลวร้ายในฉนวนกาซาได้เช่นกัน เหล่านี้จึงทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ง่ายนักในการบรรลุเป้าหมาย เพื่อการสนับสนุนการทำลายกลุ่มฮามาส ขณะที่ก็ต้องให้ความสำคัญกับการแก้วิกฤตมนุษยธรรม ก่อนที่อิสราเอลจะเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดินต่อฉนวนกาซา
อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นโอกาสที่ผู้นำสหรัฐฯ จะใช้ในการสะท้อนความกังวลและเจรจากับผู้นำอิสราเอลเพื่อตกลงกันว่า ขอบเขตการทำสงครามที่อิสราเอลไม่ควรละเมิดอยู่ที่ตรงไหนสำหรับการเยือนครั้งนี้ นอกจากอิสราเอลแล้ว ประธานาธิบดีไบเดนยังมีกำหนดเยือนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางอีก โดยผู้นำสหรัฐฯ จะเดินทางไปยังจอร์แดน อียิปต์ รวมถึงจะเข้าพบประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์
การเดินทางเยือนอิสราเอลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เกิดขึ้นในวันที่อิหร่านออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่า จะเปิดแนวรบใหม่ถ้าอิสราเอลและสหรัฐฯ ไม่ยุติการโจมตีฉนวนกาซา
เมื่อคืนที่ผ่านมา ฮอสเซน อามีร์-อับดอลาเฮียน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านแถลงว่า การปิดล้อมและการโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอลคือสิ่งที่กำลังทำให้สถานการณ์อยู่ในสภาพที่ควบคุมไม่ได้และสงครามจะลุกลามไปยังพื้นที่อื่น
รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ยังระบุด้วยว่า อิหร่านอาจต้องโจมตีอิสราเอล หรือ Pre-emptive Action หากอิสราเอลไม่หยุดโจมตีพลเรือนในฉนวนกาซา
ล่าสุด อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้ออกมาประกาศจุดยืนดังกล่าวซ้ำอีกครั้ง โดยระบุว่า หากการโจมตีฉนวนกาซายังคงดำเนินต่อไป กองกำลังหลายกลุ่มจะหมดความอดทน และเมื่อถึงตอนนั้นจะไม่มีใครสามารถหยุดหรือห้ามปรามกองกำลังดังกล่าวเพื่อไม่ให้เปิดปฏิบัติการทางการทหารได้
กองกำลังที่ผู้นำสูงสุดอิหร่านหมายถึงคือ เฮซบอลเลาะห์ กลุ่มติดอาวุธที่มีฐานอยู่ที่ทางตอนใต้ของประเทศเลบานอน ติดกับทางตอนเหนือของอิสราเอล โดยเฮซบอลเลาะห์ได้เปิดการโจมตีโต้ตอบกันไปมากับอิสราเอลเป็นระยะ ๆ ในช่วง 10 วันที่ผ่านมาหลังกลุ่มฮามาสเปิดปฏิบัติการโจมตีอิสราเอล
อย่างไรก็ตาม คำถามมีอยู่ว่า หากกลุ่มเฮซบอลเลาะห์หมดความอดทนลงและตัดสินใจเปิดฉากโจมตีอิสราเอลจากทางเหนือ เฮซบอลเลาะห์จะมีศักยภาพสู้รบกับอิสราเอลมากแค่ไหนและแนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อไปหากกลุ่มเฮซบอลเลาะห์โจมตีอิสราเอลจริง
สำหรับศักยภาพในการสู้รบ นิโคลัส แบลนฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเฮซบอลเลาะห์ประจำแอตแลนติก คอนซิล วิเคราะห์ผ่านสำนักข่าวอัลจาซีราว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ทำสงครามครั้งสุดท้ายกับอิสราเอลในปี 2006 ซึ่งไม่มีฝ่ายใดชนะขาด กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ได้พัฒนาขีดความสามารถทางการทหารขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญโดยขณะนี้ แบลนฟอร์ดประเมินว่า กลุ่มเฮซบอลเลาะห์มีนักรบอย่างน้อย 60,000 นาย โดยมีหน่วยกองกำลังพิเศษที่ถูกฝึกขึ้นมาเพื่อทำปฏิบัติการแทรกซึมเข้าไปในแผ่นดินอิสราเอลด้วย
ส่วนขีปนาวุธที่มีอยู่ในครอบครองอยู่ที่ประมาณ 150,000 ลูก ซึ่งส่วนมากเป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้ โดยหนึ่งในนั้นเป็นขีปนาวุธสัญชาติอิหร่านที่มีความแม่นยำสูง
ผู้เชี่ยวชาญด้านเฮซบอลเลาะห์ประจำแอตแลนติก คอนซิล รายนี้จึงมองว่า เฮซบอลเลาะห์มีศักยภาพที่จะสร้างความเสียหายรุนแรงให้แก่อิสราเอลได้
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเฮซบอลเลาะห์ประจำแอตแลนติก คอนซิล เชื่อว่าอิหร่านและเฮซบอลเลาะห์จะสามารถยับยั้งชั่งใจได้ เนื่องจากในแง่หนึ่ง เฮซบอลเลาะห์มีสถานะเป็นเครื่องป้องปรามไม่ให้สหรัฐฯ และอิสราเอลตัดสินใจโจมตีอิหร่าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสที่การโจมตีจะเกิดขึ้น เพราะในมุมอิหร่าน ตอนนี้คือจังหวะที่เหมาะสมที่สุด
นี่หมายถึงความเสี่ยงจะความขัดแย้งจะขยายวงกว้างออกไปนอกอิสราเอล ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายหนัก เนื่องจากอิสราเอลก็มีแสนยานุภาพทางการทหารในการตอบโต้อย่างมากเช่นกันขณะเดียวกันกับที่อิหร่านออกมาประกาศว่า อาจชิงโจมตีอิสราเอลก่อนหากสถานการณ์ในฉนวนกาซายังคงเลวร้าย
ในระหว่างการเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ของ โอลาฟ ชอล์ซ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กษัตริย์ของจอร์แดนก็ได้แสดงความกังวลว่า การขยายวงของสงครามจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งนั่นจะนำมาสู่ความเสียหายขนานหนักเกินกว่าที่จะรับได้
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 18 ต.ค.66
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/208269