กองทัพรัสเซียจำลองการยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ เพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากมอสโกถอนสัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามทดสอบอาวุธนิวเคลียร์
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 25 ต.ค. 2566 กระทรวงกลาโหมรัสเซีย เผยแพร่คลิปวิดีโอแสดงให้เห็นสิ่งที่พวกเขาระบุว่า เป็นการทดสอบขีดความสามารถในการยิงอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากสภาสูงมีมติเป็นเอกฉันท์ ผ่านกฎหมายถอนสัตยาบันออกจากสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ (CTBT)
คลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นขีปนาวุธอำนาจสูงกำลังถูกยิงออกจากฐานปล่อย ซึ่งไม่ระบุแน่ชัดว่าอยู่ที่ใด โดยในช่วงท้ายมีภาพเครื่องบินของกองทัพรัสเซียกำลังขึ้นบิน
นายเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เผยในการประชุมความมั่นคงว่า การฝึกซ้อมดังกล่าวซึ่งมีการยิงขีปนาวุธข้ามทวีป ‘ยาร์ส’, มิสไซล์จากเรือดำน้ำ และขีปนาวุธร่อนหลายลูก มีจุดประสงค์เพื่อฝึกซ้อมดำเนินการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ ด้วยกองกำลังจู่โจมทางยุทธศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของศัตรู
ขีนาวุธข้ามทวีป ยาร์ส ถูกยิงออกจากฐานทดสอบทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ขณะที่มีขีปนาวุธถูกยิงจากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ‘ตูลา’ (Tula) สังกัดกองเรือทะเลเหนือในทะเลบาเรนต์ส นอกจากนั้น ยังมีขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์พิสัยไกลถูกยิงจากเครื่องบินทิ้งระเบิด ‘ตูโปเลฟ-95’
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัสเซียเกิดขึ้นหลังจากเมื่อ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย หรือ สภาดูมา มีมติเป็นเอกฉันท์ ผ่านร่างกฎหมายถอนสัตยาบันจากสนธิสัญญา CTBT ด้วยคะแนนเห็นชอบ 415 ต่อ 0 ก่อนที่ในวันที่ 25 ต.ค. สภาสหพันธรัฐ หรือสภาสูงของรัสเซีย จะลงมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนน 156 ต่อ 0
ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เตือนไว้ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมาแล้วว่า รัสเซียอาจถอนสัตยาบันในสนธิสัญญา CTBT ที่พวกเขาให้ไว้ในปี 2543 เพื่อสะท้อนจุดยืนเดียวกันกับสหรัฐฯ ที่ร่วมลงนามในข้อตกลงห้ามทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ฉบับนี้ แต่ไม่เคยให้สัตยาบันเลย
สนธิสัญญาห้ามทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นในปี 2539 มีประเทศร่วมลงนาม 187 ประเทศ กำหนดว่า ห้ามชาติสมาชิกทดสอบการระเบิดด้วยนิวเคลียร์ทุกประเภทไม่ว่าจะที่ใดบนโลก แต่มันไม่เคยถูกบังคับใช้อย่างเต็มที่ เพราะนอกจากสหรัฐฯ แล้ว จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, เกาหลีเหนือ, อิสราเอล, อิหร่าน และอียิปต์ ก็ไม่ได้ให้สัตยาบันเช่นกัน
ทั้งนี้ รัสเซียจัดการจำลองยิงอาวุธนิวเคลียร์เป็นประจำทุกปี แต่การซ้อมครั้งล่าสุดเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามในยูเครน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ารัสเซียอาจจะกลับมาทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้ง เพื่อกดดันไม่ให้ชาติตะวันตกให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครนต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญบางคนแสดงความกังวลด้วยว่า การถอนสัตยาบันในสนธิสัญญา CTBT ของรัสเซีย อาจนำไปสู่การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของอาวุธนิวเคลียร์
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 ต.ค.66
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2735644