“สงครามอุโมงค์เอื้อให้กองทหารที่เผชิญหน้ากับข้าศึกที่มีความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีนั้น มีหนทางที่มีประสิทธิภาพในการตอบโต้กับการใช้กำลังทางอากาศที่เหนือกว่า”
The Jerusalem Center for Public Affairs (2014)
เรื่องของอุโมงค์ในฉนวนกาซาไม่ใช่เรื่องใหม่อย่างแน่นอน หากแต่เดิมนั้นอุโมงค์ไม่ได้ทำหน้าที่ในทางทหาร หากเป็นอุโมงค์ถูกจัดทำเพื่อใช้ในการลักลอบนำสิ่งของต่างๆ ผ่านการปิดพรมแดนของรัฐบาลอียิปต์ที่ด่านราฟาห์ (Rafah) การลักลอบเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 แล้ว และยิ่งเมื่อเกิดการปิดล้อมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากทั้งทางอียิปต์และอิสราเอลในปี 2007 อุโมงค์เช่นนี้ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นกับชีวิตที่ดำเนินไปในกาซา
กล่าวคือ อุโมงค์กลายเป็นเส้นทางของการลำเลียงสิ่งของต่าง ๆ เข้าสู่พื้นที่ของกาซ่า และโดยนัยคืออุโมงค์เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตอบโต้กับการปิดล้อมทางเศรษฐกิจ
พร้อมกันนี้อุโมงค์ดังกล่าวก็มีพัฒนาการมากขึ้น ทั้งในเรื่องของขนาด ความซับซ้อน และความแข็งแรง จนในเวลาต่อมา อุโมงค์เริ่มถูกใช้ในอีกภารกิจหนึ่งคือ อุโมงค์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร จนทำให้นักการทหารในโลกปัจจุบันต้องหันกลับมาพิจารณาเรื่องราวเก่าแก่ในวิชาประวัติศาสตร์สงคราม คือ สงครามอุโมงค์ (Tunnel Warfare) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามใต้พิภพ” (Subterranean Warfare) เพราะเป็นสงครามที่ทำในระดับใต้พื้นผิวของโลก (Underground Warfare) [คำว่า “subterranean” เป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบายถึง สิ่งที่อยู่ใต้พื้นผิวที่เรามองไม่เห็น]
คำอธิบายที่น่าสนใจของตัวประกันหญิงอาวุโสชาวอิสราเอลชื่อ Yocheved Lifshitz อายุ 85 ปี ที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งเธอเล่าถึงการเดินในอุโมงค์นาน 2-3 ชั่วโมง จนกระทั่งถึงห้องโถงใหญ่ที่ตัวประกันถูกจับมาอยู่รวมกัน และมีการจัดที่พักให้เป็นอย่างดี เธอเล่าต่ออีกว่า อุโมงค์ของฮามาสเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ และคล้ายกับ “ใยแมงมุม”…
อุโมงค์ของฮามาสจึงกลายเป็น “โจทย์สงคราม” สำคัญที่กองทัพอิสราเอลจะต้องขบคิดให้ได้ และทำให้สงครามในกาซามีลักษณะเป็น “สงครามอุโมงค์” หรือกล่าวในทางกายภาพได้ว่าเป็น “สงครามใต้พิภพ” นั่นเอง
สงครามใต้พิภพยุคเก่า
การใช้อุโมงค์เพื่อการสงครามเป็นเรื่องเก่าแก่ในประวัติศาสตร์นานนับศตวรรษ… การใช้อุโมงค์ในการสงครามเช่นนี้ อาจย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคอัสซีเรียโบราณในช่วงศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสตกาล (BC) โดยพวกเขาจะขุดอุโมงค์ลอดสิ่งกีดขวางในสนามรบ และลอดใต้กำแพงเมือง หรือกำแพงของป้อมสนาม และส่งกำลังพลเข้าจู่โจมเป้าหมายหลังแนวดังกล่าว ในบางกรณีมีการขุดอุโมงค์ให้เข้าใกล้ประชิดแนวกำแพง เพื่อส่งกำลังพลเข้าทำลายรากฐานของกำแพง (คนในยุคนั้นเรียกอุโมงค์ว่า “mines” ไม่ได้ใช้คำว่า “tunnels”)
การขุดอุโมงค์ในยุคโบราณใช้ระยะเวลามาก เพราะจะต้องขุดห่างจากเป้าหมายที่ต้องการมาก เพื่อป้องกันการถูกจับได้และถูกทำลาย คนในยุคนั้นมีความคิดไม่ต่างจากยุคปัจจุบันว่า อุโมงค์เป็นหนทางที่ปลอดภัยที่สุดในการเข้าประชิดพื้นที่เป้าหมาย
นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวยิวในยุคโบราณในราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล มีการขุดอุโมงค์และใช้อุโมงค์ด้วยหลายเหตุผล ซึ่งอุโมงค์นี้มีขอบข่ายกว้างขวาง และใช้เพื่อการก่อกบฏต่อฝ่ายโรมัน หรือในบางกรณี อุโมงค์นี้เพื่อหลบซ่อนการติดตามของทหารโรมัน จนเมื่อกองทัพโรมชนะต่อกบฏชาวยิวแล้ว จึงมีการติดตามค้นหาและทำลายอุโมงค์ดังกล่าว หรือสงครามระหว่างกรีกกับเปอร์เซียในยุคโบราณ ก็มีการใช้อุโมงค์เป็นเครื่องมือ โดยต่างฝ่ายต่างใช้อุโมงค์เป็นช่องทางในการต่อสู้
ในสภาพเช่นนี้เห็นได้ชัดว่า สงครามอุโมงค์มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
ในยุคกลางของยุโรป การใช้อุโมงค์ปรากฏให้เห็นในการสงคราม เช่น สงครามป้อมค่ายประชิด (Siege Warfare) ในปี 1203 ที่ต้องการยึดปราสาท Chateau Gaillard ซึ่งพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lion-Hearted) ได้สร้างขึ้น โดยกองทัพฝรั่งเศสได้ใช้การขุดอุโมงค์เพื่อเป็นหนทางเล็ดลอดเข้าไปในตัวปราสาท และอุโมงค์นี้ไปโผล่ขึ้นที่ห้องสุขาของปราสาท จึงกลายเป็นช่องทางอย่างดีให้แก่การยึดตัวปราสาท แต่การขุดเจาะอุโมงค์ก็มีอันตรายอย่างมาก เพราะความเสี่ยงต่อการถล่มของอุโมงค์
ในยุคสงครามกลางเมืองอเมริกัน กองทัพฝ่ายเหนือได้ใช้คนงานเหมืองเข้ามาช่วยในการเตรียมทำสงครามอุโมงค์ โดยมีการขุดอุโมงค์ที่มีความยาวถึง 510 ฟุต เพื่อนำเอาดินระเบิดจำนวนมากถึง 4 ตันไปไว้ใต้ที่ตั้งของหน่วยทหารของฝ่ายใต้ ในการยึดเมืองปีเตอร์สเบิร์ก ที่รัฐเวอร์จิเนีย (The Siege of Petersburg, 1864-1865) และการจุดระเบิดครั้งนี้ ทำให้ทหารฝ่ายใต้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันก็เกิดหลุมขนาดใหญ่จากการระเบิด และกลับกลายเป็นกับดักต่อการเข้าตีของกองทัพฝ่ายเหนือ โดยหลังจากการระเบิดแล้ว กองทัพฝ่ายเหนือได้เปิดการจู่โจม แต่ก็เป็นการดำเนินการอย่างไร้ทิศทาง กำลังพลของฝ่ายเหนือจึงลงไปอยู่ในหลุมขนาดใหญ่ที่เกิดจากการระเบิดในครั้งนี้ และกลายเป็นเป้านิ่งให้กับการยิงของทหารฝ่ายใต้ และน่าสนใจว่าการทำสงครามป้อมค่ายประชิดในครั้งนี้มีการขุดสนามเพลาะอย่างกว้างขวาง และในอีก 50 ปีถัดมา สงครามสนามเพลาะปรากฏตัวอย่างชัดเจนในสงครามโลกครั้งที่ 1
การจู่โจมใน The Battle of Crater (30 กรกฎาคม 1864) ทำให้กองทัพฝ่ายเหนือต้องประสบความสูญเสียราว 3,798 นาย และฝ่ายใต้สูญเสียประมาณ 1,491 นาย และผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารของฝ่ายเหนือในพื้นที่ถูกปลด เพราะเกิดความผิดพลาดอย่างมาก
นายพลแกรนต์ แม่ทัพใหญ่ของฝ่ายเหนือถึงกับกล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องราวที่เศร้าสลดใจมากที่สุดที่เขาได้เห็นในสงครามนี้”
สงครามใต้ดินยุคสงครามโลก
ในการสงครามสมัยใหม่ของโลก เช่นในสงครามโลกครั้งที่ 1 เห็นได้ชัดเจนถึงสงครามใต้พิภพ ที่ปรากฏในรูปแบบของ “สนามเพลาะ” ด้วยการขุดลึกลงไปใต้ดิน เพื่อสร้างอุโมงค์ที่มีความยาวและสามารถเชื่อมต่อกันในแบบเครือข่าย จนเกิดเป็นคุณลักษณะของการสงครามอีกแบบที่ถือเป็นตัวแทนของสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ “สงครามสนามเพลาะ” (Trench Warfare)
ฉะนั้น อุโมงค์ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงถูกสร้างให้เป็นสนามเพลาะ ที่ใช้เพื่อการหลบภัยจากการโจมตีทางอากาศ การโจมตีด้วยปืนใหญ่ของข้าศึก และการระดมยิงด้วยปืนกลของข้าศึก ใช้เป็นที่พักของทหาร ใช้เป็นที่เก็บสรรพาวุธ ใช้เป็นกองบัญชาการสนาม ใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม หรือใช้เป็นจุดของแนวออกตี อีกทั้งในบางกรณี สนามเพลาะถูกใช้เพื่อทำเป็น “อุโมงค์ระเบิด” เพื่อทำลายสนามเพลาะข้าศึก หรือที่หมายของข้าศึกที่อยู่บนพื้นผิวโลก (ดังเช่นยุทธการยึดเมืองปีเตอร์สเบิร์กในสงครามกลางเมืองอเมริกัน)
สงครามสนามเพลาะด้วยการทำอุโมงค์ระเบิดจำนวน 22 อุโมงค์ของกองทัพสัมพันธมิตรใน The Battle of Messines-Wytschaete Ridge ในเดือนมิถุนายน 1916 เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรมีการจัดตั้ง “กองร้อยอุโมงค์” ที่นำเอาทหารที่มีความเชี่ยวชาญในการขุดเจาะมาเป็นกำลังหลัก ซึ่งพวกเขาเป็นคนงานเหมืองหรือเป็นพวกขุดหาทองคำ โดยมีแนวคิดหลักในการขุดอุโมงค์เพื่อให้อยู่ใต้แนวที่ตั้งของข้าศึก และทำการจุดระเบิด
การยุทธ์ในครั้งนี้ มีการนำเอาระเบิดทีเอ็นทีขนาด 450 ตัน หรือเป็นขนาดของระเบิดเกือบ 1 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นการระเบิดที่ใหญ่ที่สุดก่อนยุคระเบิดนิวเคลียร์ การจุดระเบิดเกิดในวันที่ 7 มิถุนายน 1916 เวลาบ่าย 3 โมง 10 นาที เป็นการจุดระเบิดพร้อมกันทุกอุโมงค์
และประมาณว่าทหารเยอรมันเสียชีวิตราว 10,000 นาย เหตุการณ์นี้ถือเป็นสงครามอุโมงค์ที่ใหญ่ที่สุดในสงครามสมัยใหม่
สําหรับอุโมงค์ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่เท่ากับแนวคิดของการสร้างแนวอุโมงค์ขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสในช่วงปลายทศวรรษ 1920 และสร้างเสร็จในปี 1936 ซึ่งฝรั่งเศสตัดสินใจลงทุนอย่างมหาศาลในการสร้าง “แนวมาจิโนต์” (The Maginot Line) ด้วยความเชื่อว่า แนวป้อมอุโมงค์นี้จะเป็นเครื่องมือของการป้องกันการบุกของเยอรมนีที่ดีที่สุด (อุโมงค์นี้อาจมีมูลค่าเกินกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วยมูลค่าของเงินปัจจุบัน)
อุโมงค์ถูกสร้างให้เกิดความแข็งแรงที่สามารถทนทานต่ออำนาจการยิงและการทิ้งระเบิด โดยใช้คอนกรีตและเหล็กจำนวนมาก อุโมงค์นี้อยู่ในภูเขาที่มีความยาวถึง 280 ไมล์ และเชื่อมต่อระหว่างป้อมสนามภายในด้วยรถจักรดีเซล แนวป้อมปราการใต้ดินและอยู่ในภูเขาเช่นนี้
น่าจะเป็นอุโมงค์ที่ทันสมัยที่สุดของการเตรียมรับมือกับการเข้าตีของกองทัพเยอรมนี โดยเฉพาะการโจมตีทางอากาศ การเข้าตีของรถถัง หรือการยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ และต้องยอมรับว่าแนวป้อมมาจิโนต์มีความล้ำหน้ามากว่าป้อมอื่นๆ ในยุคต้นสงครามโลกครั้งที่ 2
อุโมงค์ชุดนี้ถูกจัดสร้างอย่างดี และมีเครื่องอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น จนกล่าวกันว่าชีวิตในมาจิโนต์สะดวกสบายกว่าเมืองสมัยใหม่ในขณะนั้นเสียอีก แต่สุดท้ายแล้วแนวป้องกันมาจิโนต์ไม่ได้ถูกใช้ ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีและแนวคิดทางทหารของ “สงครามสายฟ้าแลบ”… กองทัพเยอรมนีไม่ได้เปิดการโจมตีตามแนวทางที่ฝรั่งเศสคิดในแผนการป้องกันประเทศแต่อย่างใด กลับบุกขึ้นไปทางเหนือ และผลักดันให้กองทัพฝรั่งเศสและกองทัพอังกฤษต้องถอยไปสู่แนวชายฝั่งที่ดันเคิร์ก พร้อมกับตีลงใต้เพื่อยึดปารีส จนปารีสแตกอย่างรวดเร็ว และผลจากชัยชนะเช่นนี้ ทำให้กองทัพเยอรมนีกลับกลายมาอยู่แนวหลังของป้อมมาจิโนต์ และสามารถเปิดการโจมตีจากแนวหลัง ไม่ใช่จากแนวหน้าตามที่ได้ออกแบบไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือจุดจบของสงครามอุโมงค์ของฝรั่งเศสนั่นเอง
ฉะนั้น อุโมงค์มาจิโนต์กลายเป็นการลงทุนทางทหารที่ไร้ค่าของยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่สามารถทำหน้าที่ในการป้องปรามการบุกของกองทัพเยอรมนีต่อฝรั่งเศสได้เลย เพราะสงครามมีลักษณะของการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ในตัวแบบของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ผู้นำการเมืองและการทหารของฝรั่งเศสมีประสบการณ์มาแล้ว จนอาจกล่าวได้ว่าฝรั่งเศสเตรียม “สงครามอุโมงค์” เพื่อรองรับสำหรับสงครามครั้งก่อน ผลจากภาวะเช่นนี้จึงทำให้เกิดภาพลักษณ์ของภาษาที่ “แนวมาจิโนต์” หมายถึงการลงทุนอย่างมหาศาลที่ไม่ได้ตอบสนองต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นการลงทุนอย่างมโหฬารในทางทหารที่ไม่คุ้มค่า และมีผลต่อการสร้างแนวคิดด้านความมั่นคงที่ผิด ๆ
แต่แม้แนวมาจิโนต์จะเป็นสิ่งไร้ค่าในยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของฝรั่งเศส แต่ก็ใช่ว่าแนวคิดเรื่องสงครามอุโมงค์จะหายไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและแนวคิดทางทหารของยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่อย่างใด!
คอลัมน์ ยุทธบทความ
ผู้เขียน สุรชาติ บำรุงสุข
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 – 7 ธันวาคม 2566 / วันที่เผยแพร่ 7 ธ.ค.66
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_728939