ปัจจุบันโลกของเราได้เข้าไปสู่ยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์ ทำให้ภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาจะเห็นได้จากข่าวการโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก เช่น โรงกลั่นน้ำมัน บริษัทขนส่งน้ำมัน ตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารทั้งรัฐและเอกชน บริษัทประกันภัย และโรงพยาบาล เป็นต้น การโจมตีมีวัตถุประสงค์หลากหลาย อาทิ เพื่อก่อกวนให้ใช้งานระบบไม่ได้ หรือการโจมตีเพื่อขโมยข้อมูลด้วยแรนซัมแวร์ ซึ่งกลุ่มอาชญากรจารกรรมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ทำการปิดกั้นข้อมูลเป็นตัวประกันจนกว่าบริษัทจะยอมจ่ายค่าไถ่หรือให้ผลประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้ก่อเหตุ ดังนั้น บริษัทจึงต้องหยุดการทำงานในระบบทำให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการหรือดำเนินธุรกิจ และอาจหมายรวมถึงส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีแนวโน้มการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเชิงปริมาณและความรุนแรง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ทำให้องค์กรต่าง ๆ มุ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การทำงานระยะไกลเสมือนจริงผ่านการใช้งานพอร์ทัลแอปพลิเคชัน และเว็บแอปพลิเคชันเพื่อความสะดวกในการทำงาน ทำให้อาชญากรไซเบอร์ใช้ประโยชน์จากการที่ทุกคนต้องเว้นระยะห่างและทำงานจากนอกสถานที่ เจาะช่องโหว่ของระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นรัฐบาลตระหนักดีว่าต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ดังนั้น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 จึงถูกบัญญัติขึ้น เพื่อรับมือ ป้องกัน และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบต่อหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ หรือ CII (Critical Information Infrastructure) อันจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในวงกว้างต่อไป สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) นำโดย…