แอปฯ แอนดรอยด์แอบเก็บข้อมูล แม้ผู้ใช้ไม่อนุญาต
รายงานล่าสุดระบุว่า แอปพลิเคชันในแอนดรอยด์แอบเก็บข้อมูลส่วนตัว แม้ผู้ใช้จะไม่อนุญาตให้เก็บข้อมูลก็ตาม โดยมีการประเมินว่ามีผู้ใช้ได้รับผลกระทบหลายร้อยล้านคน ผลการศึกษาล่าสุดระบุว่า แอปพลิเคชันยอดนิยมหลายแอปฯ บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ผู้ใช้โหลดจากกูเกิลเพลย์สโตร์แอบเก็บข้อมูลส่วนตัวจากโทรศัพท์ของผู้ใช้ แม้ผู้ใช้จะปฏิเสธไม่ให้แอปเก็บข้อมูลแล้วก็ตาม โดยแอปฯ เหล่านี้ใช้ “ช่องทางข้างเคียง” หรือ “เปลี่ยนช่องทาง” ในการเก็บข้อมูล เช่น เก็บข้อมูลจากแอปฯ อื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตจากผู้ใช้ การศึกษานี้จัดทำขึ้นโดยสถาบันวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ระหว่างประเทศ ศูนย์วิจัยไม่แสวงหาผลกำไร ร่วมกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์คลีย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กร รวมถึงโครงการวิทยาศาสตร์ความมั่นคงของหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ และมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ ทีมวิจัยครั้งนี้ได้ติดตั้งแอปฯ ยอดนิยมในแต่ละหมวดบนกูเกิลเพลย์สโตร์ รวมทั้งหมด 88,000 แอปฯ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ การศึกษาพบว่า มีแอปฯ ในแอนดรอยด์ประมาณ 60 แอปฯ ที่ใช้วิธีนี้ในการเก็บข้อมูลแล้ว และมีอีกหลายแอปฯ ที่เขียนโค้ดให้ใช้วิธีดังกล่าวในการเก็บข้อมูล โดยนักวิจัยประเมินว่า น่าจะมีผู้ใช้แอนดรอยด์ได้รับผลกระทบหลายร้อยล้านคน ในบางกรณี แอปฯ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลตำแหน่งของอุปกรณ์จะเก็บข้อมูลไว้ใน SD card ของโทรศัพท์ ซึ่งทำให้แอปฯ ที่ไม่ได้รับอนุญาตสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้จาก SD card อีกทีหนึ่ง ส่วนอีกหลายกรณี ผู้ใช้อาจอนุญาตให้แอปฯ เข้าถึงข้อมูลโดยไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าตัวเองยอมรับเงื่อนไขอะไรไปบ้าง…