หลักการกระทำละเมิด
ละเมิด คือ อะไร ละเมิด คือ การกระทำใด ๆ ของบุคคลหรือการกระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของบุคคล อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น อาจเป็นการกระทำของตนเอง การกระทำของบุคคลอื่น หรือความเสียหายที่เกิดจากทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองดูแล ผู้ได้รับความเสียหายนั้นชอบที่จะได้รับการเยียวยา โดยการเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทน หรือเรียกร้อง ให้ผู้ละเมิดปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติ ในลักษณะอื่น ๆ แล้วแต่กรณี หลักการกระทำละเมิด * ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” องค์ประกอบของการกระทำที่เป็นละเมิด กล่าวคือ 1.กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ 2.กระทำโดยผิดกฎหมาย 3.การกระทำก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น 4.ความเสียหายเป็นผลมาจากการกระทำดังกล่าวนั้น ส่วนละเมิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับด้วยเหตุผลว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะตัว ในการดำเนินงานบางครั้งอาจเกิดความเสียหายขึ้นโดยความไม่ตั้งใจและผิดพลาดเล็กน้อยแต่กลับต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว และที่ผ่านมายังใช้หลักของลูกหนี้ร่วมทำให้เจ้าหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นระบบที่มุ่งจะให้ได้รับเงินชดใช้ค่าเสียอย่างครบถ้วนโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะมีต่อแต่ละคน จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และยังเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่จนบางครั้งเป็นปัญหาในการบริหารงานเพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจในการทำงานเท่าที่ควร ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงสมควรให้เจ้าหน้าที่รับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น และให้แบ่งแยกความรับผิดของแต่ละคน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรัฐ ดังนั้นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน้าที่ของตนนั้นหากเกิดความเสียหายขึ้นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย…