การบ่อนทำลาย

Loading

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒  ให้ความหมายคำว่า “การบ่อนทำลาย”(Subversion) คือ การกระทำใดๆ ที่มุ่งก่อให้เกิดความแตกแยก ความปั่นป่วน ความกระด้างกระเดื่อง อันจะนำไปสู่ความไม่สงบ หรือความอ่อนแอภายในประเทศ หรือมุ่งเฉพาะต่อสภาพทางการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา หรือทางใดทางหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือล้มล้างสถาบันการปกครองของประเทศ หรือมุ่งทำลายความจงรักภักดีของชนในชาติต่อสถาบันของชาติ หรือเพื่อเอื้อประโยชน์แก่รัฐต่างชาติ  นอกจากนี้  การบ่อนทำลายนับเป็นกลวิธีที่สามารถนำมาใช้กับเป้าหมายพื้นฐานทุกกลุ่มของประเทศได้อีกด้วย   แต่เดิมการบ่อนทำลายนับเป็นยุทธวิธีที่ต้องดำเนินการอย่างปิดบังในพื้นที่ควบคุมของฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมาย การบ่อนทำลายจึงเป็นการดำเนินภารกิจร่วมเฉพาะเพียงผู้ให้การสนับสนุนกับผู้ปฏิบัติเท่านั้น จำเป็นต้องจำกัดการรับทราบได้เท่าที่จำเป็น เนื่องจากเป็นการแฝงเข้าไปค้นหาจุดอ่อนของฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมายเพื่อทำลาย ขณะที่ฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมายอาจมีความเข้มแข็งเท่าเทียมกันหรือสูงกว่า จึงนับเป็นภารกิจที่เสี่ยงภัยอันตรายจนอาจถึงชีวิตของผู้ปฏิบัติ  อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าไปสร้างความอ่อนแอ แตกแยกจนประสบผลแล้ว จะสามารถดำเนินการทำลายอำนาจของฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมายให้สูญสลาย  วิธีการบ่อนทำลายนี้อาจไม่ทำลายหรือส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน สิ่งก่อสร้าง หรือก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตเช่นวิธีการต่อสู้อื่น อย่างเช่นการก่อวินาศกรรม หรือการก่อการร้าย หรือการทำสงครามสู้รบ การบ่อนทำลายเป็นวิธีที่ยากต่อการป้องกันหรือแม้แต่การวางมาตรการป้องปราม เพราะเป็นการสร้างหรือนำอคติของมนุษย์ที่มีต่อกันมาเป็นแนวทางในการต่อสู้และเอาชนะกัน  การบ่อนทำลายเป็นกลวิธีที่มีการนำใช้มานับแต่สมัยพุทธกาล เห็นได้จากคำสอนเรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์ ซึ่งเล่าถึงกลวิธีเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม  เริ่มจากความต้องการขยายดินแดนและนำไปสู่การสู้รบระหว่างแคว้นมคธกับแคว้นวัชชีในอินเดีย โบราณ เมื่อไม่สามารถสู้รบให้ประสบผลแพ้-ชนะต่อกัน  ฝ่ายแคว้นมคธจึงใช้วิธีบ่อนทำลายแคว้นวัชชี ด้วยการทำอุบายส่งวัสสการพราหมณ์ ปุโรหิตแห่งแคว้นมคธ เข้าไปยุยงกลุ่มกษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี จนแตกความสามัคคี และเป็นเหตุให้แคว้นวัชชีอ่อนแอลง  แคว้นมคธจึงส่งกองทัพเข้ายึดครองได้สำเร็จ  …