เทคโนโลยี deepfake ใหม่! ใช้แค่รูปและไฟล์เสียงก็สร้างคลิปปลอมร้องเพลงได้ง่ายๆ

Loading

งานวิจัยใหม่จาก Imperial College ในกรุงลอนดอน และศูนย์วิจัย AI ของ Samsung ในสหราชอาณาจักร แสดงวิธีการที่รูปภาพเพียงรูปเดียวและไฟล์เสียงสามารถนำไปใช้สร้างคลิปวีดีโอคนร้องเพลงหรือพูดได้ นักวิจัยก็ใช้วิธีเช่นเดียวกับงาน deepfake อื่นๆ ที่เราเคยเห็น นั่นคือ ใช้ระบบเรียนรู้สร้างเอาท์พุต และแม้ว่าผลที่ออกมาจะยังห่างไกลจากความสมจริง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็น่าประหลาดใจที่สามารถสร้างผลลัพธ์ออกมาได้จากข้อมูลเพียงนิดเดียว ดังที่เห็นได้จากตัวอย่างของคลิปอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งถูกแปลงออกมาเป็นคลิปบรรยายที่คุณคงไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน อีกหนึ่งตัวอย่างคือ คลิปของกริกอรี รัสปูติน กำลังร้องเพลงของบียอนเซ่ ไม่เพียงแต่จะทำให้ภาพวีดีโอที่ออกมาตรงกับไฟล์เสียงเท่านั้น ระบบยังสามารถทำให้คนพูดสื่ออารมณ์ออกมาได้ตรงตามที่กำหนดด้วย โดยมีอินพุตเพียงแค่ภาพรูปเดียวและไฟล์เสียง แล้วอัลกอริธึมก็จัดการส่วนที่เหลือนั้น ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ผลงานที่ออกมาไม่ได้ดูสมจริงนัก แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีพัฒนาไปได้เร็วแค่ไหน เทคนิคในการสร้าง deepfake นั้นง่ายขึ้นทุกที และแม้ว่างานวิจัยเช่นนี้ยังไม่ออกสู่ตลาด แต่คงอีกไม่นานที่เทคโนโลยีนี้อาจจะมาในรูปแบบซอฟต์แวร์ที่ใช้งานง่าย เป็นที่เข้าใจได้ว่า งานวิจัยแนวนี้สร้างความกังวลใจแก่คนทั่วไปหากถูกนำไปใช้เผยแพร่ข้อมูลเท็จและโฆษณาชวนเชื่อ หรือถูกนำไปใช้ก่อความเสียหายแก่ตัวบุคคล โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งยังคงตกเป็นเป้าถูกนำภาพไปใช้สร้างภาพอนาจารสร้างความอับอายได้ ————————————————————- ที่มา : ADPT News / JUNE 21, 2019 Link : https://www.adpt.news/2019/06/21/new-deepfake-tech-turns-single-photo-and-audio-file-into-singing-vdo/

ใหม่! เครื่องมือตรวจจับคลิปปลอม deepfake ได้แม่นยำถึง 96%

Loading

เครื่องมือใหม่ที่พัฒนาโดยทีมวิจัยจาก the USC Information Sciences Institute (USCISI) อาจเป็นตัวช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของคลิปปลอม deepfake ได้ โดยเครื่องมือนี้จะตรวจจับการเคลื่อนไหวของใบหน้าและศีรษะ และสิ่งแปลกปลอมในไฟล์เพื่อดูว่าวีดีโอนั้นถูกปลอมขึ้นมาหรือไม่ จากงานวิจัยที่เผยแพร่โดย the Computer Vision Foundation พบว่า ระบบสามารถตรวจพบวีดีโอที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์ได้แม่นยำถึง 96 เปอร์เซ็นต์ โมเดลที่ใช้ตรวจจับคลิปปลอมทั่วไปวิเคราะห์วีดีโอแบบเฟรมต่อเฟรมเพื่อหาจุดที่มีการดัดแปลง แต่เทคนิคใหม่ที่สร้างโดยทีมนักวิจัย USC ใช้เวลาและการคำนวณทางคอมพิวเตอร์ที่น้อยกว่านั้น โดยระบบจะรีวิวดูวีดีโอทั้งหมดครั้งเดียว ซึ่งทำให้ระบบประมวลผลข้อมูลได้เร็วขึ้น จากนั้นจึงนำเฟรมวีดีโอวางซ้อนกันและตรวจหาความไม่สอดคล้องกันจากการขยับของคนในคลิป ซึ่งอาจจะเป็นการขยับเปลือกตาเล็กน้อยหรือการเคลื่อนไหวท่าทางแปลกๆ ที่นักวิจัยเรียกว่า “softbiometric signature (สัญลักษณ์ทางข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล)” ทีมนักวิจัยใช้ชุดข้อมูลวีดีโอที่ผ่านการดัดแปลงมาประมาณ 1,000 คลิป ในการฝึกเครื่องมือนี้ ทำให้ระบบค่อนข้างชำนาญในการระบุคลิปปลอมของนักการเมืองหรือเหล่าผู้มีชื่อเสียง นี่จึงอาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2563 การหยุดการแพร่ระบาดข้อมูลเท็จจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่ง —————————————————- ที่มา : ADPT News / JUNE 22, 2019 Link : https://www.adpt.news/2019/06/22/new-tool-detects-deepfakes-with-96-percent-accuracy/

สงครามไซเบอร์มาแล้ว กองทัพสหรัฐเตรียมโจมตีระบบเครือข่ายส่งไฟฟ้ารัสเซีย

Loading

หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานข่าววงในว่ารัฐบาลสหรัฐ เตรียมโจมตีระบบโครงข่ายไฟฟ้าของรัฐบาลรัสเซีย เพื่อตอบโต้การแทรกแซงการเลือกตั้งของหน่วยข่าวกรองรัสเซียตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาเพิ่งยกระดับกองบัญชาการไซเบอร์ (US Cyber Command) เป็นกองบัญชาการรบเต็มขั้น เมื่อปี 2018 และมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการปฏิบัติการทางไซเบอร์ ตามข่าวบอกว่า US Cyber Command ได้แทรกซึมเข้าไปยังระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมระบบโครงข่ายไฟฟ้า (กริด) ของรัสเซียแล้ว แต่ก็ไม่มีข้อมูลเชิงลึกว่าเข้าได้มากแค่ไหน และยังไม่มีรายงานว่าสหรัฐเคยเข้าไปปิดระบบไฟฟ้าของรัสเซีย ที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงไซเบอร์ของสหรัฐมักเล่นบทบาทในเชิงป้องกัน มากกว่าโจมตี แต่ช่วงหลังก็มีเสียงเรียกร้องให้สหรัฐมีท่าทีเชิงรุกมากขึ้น John R. Bolton ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Advisor) ของประธานาธิบดี Donald Trump เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐสามารถแสดงให้รัสเซียหรือประเทศใดๆ ก็ตามเห็นว่า หากเข้ามาปฏิบัติการไซเบอร์ต่อสหรัฐ ก็ย่อมต้องมีสิ่งที่ต้องจ่ายออกไป ——————————————————————– ที่มา : Blognone / 16 June 2019 Link : https://www.blognone.com/node/110367