มีเสียงเตือนมาจากแวดวงผู้เชี่ยวชาญถึงการก่อการร้ายในโลกไซเบอร์ว่ากำลังเป็นภัยมืดคุกคามความมั่นคงโลกที่น่าสะพรึงกลัวอย่างแท้จริง ที่โลกเราควรจะต้องหันมาคิดหาแนวทางป้องกันอย่างจริงๆจังๆ เพราะแม้ตอนนี้จะยังไม่เห็นพวกนักรบญิฮาดอย่างกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) หรือเครือข่ายก่อการร้ายที่มีเซลเคลื่อนไหวอยู่ทั่วโลกอย่างกลุ่มอัลเคด้า จะก่อเหตุโจมตีที่จะก่อผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อคนส่วนใหญ่โดยอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์ในการก่อเหตุโจมตี อย่างเช่น การเจาะระบบเข้าไปดับกระแสไฟฟ้า ทำให้ระบบคมนาคมขนส่งต่างๆเป็นอัมพาต การแฮกระบบธนาคารหรือเข้าควบคุมระบบปฏิบัติการของอุตสาหกรรมที่สำคัญในที่ต่างๆก็ตาม เหตุเพราะกลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ยังคงใช้อินเตอร์เน็ตไปในการวางแผนโจมตี โฆษณาชวนเชื่อและเกณฑ์สาวกไพร่พล โดยยังอาจไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอในเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงที่มีความซับซ้อน แต่เชื่อว่ากลุ่มก่อการร้ายและนักรบญิฮาดจะสามารถก่อเหตุโจมตีเลวร้ายเช่นนั้นได้ไม่ยาก ด้วยการว่าจ้างใครสักคนที่มีความชำนาญทางด้านนี้มาเป็นตัวช่วย กีลโญม ปูปาร์ หัวหน้าหน่วยความมั่นคงทางดิจิทัล ANSSI ของฝรั่งเศส กล่าวในที่ประชุมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ ซึ่งจัดที่เมืองลีลของฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆนี้ว่า การโจมตีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะสร้างหายนะอันใหญ่หลวงต่อผู้คนจำนวนมากอาจยังเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ แต่ทว่าก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ สิ่งที่น่าหวาดกลัวที่เราอาจมาอยู่ในจุดนั้นแล้วคือ การที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายอาจว่าจ้างมือดีที่ทำอะไรก็ได้เพื่อเงิน มาทำงานเลวร้ายเหล่านั้นที่ต้องอาศัยทักษะความสามารถที่มีความซับซ้อน แม้ว่าทักษะที่มีอาจจะยังไม่ถึงขั้นกดปุ่มโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้ก็ตามที ร็อบ เวนไรท์ ผู้อำนวยการตำรวจสากลยุโรป (ยูโรโปล) เป็นผู้เชี่ยวชาญอีกคนที่ใช้เวทีเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ กล่าวเตือนว่ากลุ่มนักรบญิฮาดอย่างไอเอสอาจว่าจ้างพวกมือปืนรับจ้างมาก่อเหตุโจมตีเป้าหมายในโลกไซเบอร์ โดยหาใช้บริการได้ง่ายๆ จากพวก “ดาร์คเนส” เว็บไซต์ลับที่มีการค้าบริการเทคโนโลยีด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ ขณะที่ ราฮีล ชารีฟ อดีตนายพลเกษียณราชการชาวปากีสถาน กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า การก่อการร้ายทางไซเบอร์ เป็น “ภัยคุกคามที่แท้จริง” โดยขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังพัฒนาก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นจริงที่ว่าอาจมีบางคนที่สามารถเจาะระบบที่มีความซับซ้อนและควบคุมระบบเหล่านั้นไปในทิศทางที่จะสามารถสร้างหายนะถึงขั้นขีดสุดขึ้นที่ใดสักที่หนึ่งได้ อย่างที่รับรู้กันประเทศส่วนใหญ่ต่างดำเนินมาตรการป้องกันระบบของตนเองจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์อย่างแน่นหนา ทว่าแม้จะมีมาตรการป้องกันที่รัดกุม แต่ก็ยังอาจมีช่องโหว่จุดบอดให้ต้องเพลี่ยงพล้ำเกิดขึ้นได้ ดังตัวอย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ถูกแฮกเกอร์โจมตีระบบ…