ที่ผ่านมามักจะพบเห็นเอกสารที่มีชั้นความลับของหน่วยงานรัฐ ถูกทิ้งอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมหรือถูกนำมาชั่งกิโลขายและกลายเป็นถุงใส่สารพัดสินค้า เมื่อประชาชนพบเห็นจึงเกิดความไม่สบายใจ และถามถึงความรับผิดชอบในการทำลายเอกสารสำคัญของหน่วยงานรัฐ เช่น เมื่อ 30 ต.ค.64 และ 10 ธ.ค.64 เพจ Drama-addict ได้นำเสนอภาพถุงกล้วยแขกและถุงขนมโตเกียวที่ทำมาจากเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร ที่มีลายมือชื่อของเจ้าของบัตรและเจ้าของบัญชีติดอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเจ้าของเพจแจ้งว่าเป็นข้อมูลที่ถูกส่งมาจากลูกเพจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล (Personal data) ตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานผู้ครอบครองต้องดูแล ใช้ เก็บรักษาอย่างปลอดภัย และทำลายเมื่อหมดความจำเป็นใช้ประโยชน์ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและความเสียหายที่อาจเกิดแก่เจ้าของข้อมูล รวมถึงเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานรัฐในการติดต่อประสานงานทั้งจากหน่วยงานภายนอกและประชาชน จากกรณีดังกล่าวข้างต้น การรั่วไหลของข้อมูลอาจเกิดจากความไม่รอบคอบหรือการขาดจิตสำนึกด้านการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ รวมถึงมีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากกระบวนการทำลายที่ขาดการควบคุมและไม่ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยการทำลายข้อมูลข่าวสารของราชการให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องให้ความสำคัญไปจนถึงขั้นตอนการควบคุมการทำลายโดยคณะกรรมการทำลายที่แต่งตั้งขึ้น ให้แล้วเสร็จ ด้วยการเผาและขยี้เถ้าให้เป็นผง หรือย่อย หรือแปรรูปเป็นอย่างอื่นจนไม่สามารถทราบข้อความนั้นได้ บทความโดย… องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน …
Details