สงครามใต้พิภพ (2) สงครามอุโมงค์ในยุคสมัยใหม่

Loading

“สงครามใต้พิภพมีพัฒนาการมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นเทคนิคสำหรับการลดค่าของประสิทธิภาพในการใช้กำลังทางอากาศ” Major Donald M. Heilig (US. Army)   การทำสงครามใต้พื้นผิวของโลก (Subterranean Warfare) ที่มีนัยถึงการทำสงครามใต้ดินในทางกายภาพนั้น เป็นสิ่งที่เกิดมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ และสงครามอุโมงค์เป็นตัวอย่างรูปธรรมของสงครามในแบบแผนเช่นนี้ สงครามในบริบทของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เช่นนี้เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัยของการสงคราม และพัฒนาไปสู่การเป็น “ทฤษฎีการสงครามใต้ดิน”   สาเหตุส่วนหนึ่งแห่งการกำเนิดของสงครามชุดนี้ อาจเป็นผลจากประสบการณ์ของมนุษย์ตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ที่เคยอาศัยถ้ำทางธรรมชาติเป็นที่พักพิง และ/หรือหลบภัย อันเป็นการใช้สิ่งที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในชีวิตประจำวันเป็นเครื่องมือของการปกป้องตัวมนุษย์เอง เช่น ถ้ำหรือโพรงดินต่างๆ เป็นต้น   ซึ่งสภาพของเหล่านี้เอื้อประโยชน์โดยตรงต่อการทำเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งยังใช้ในการป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่า หรือจากมนุษย์ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วย   อุโมงค์ในบริบททางทหาร ฉะนั้น ถ้าหรืออุโมงค์ในเบื้องต้นจึงถูกใช้ประโยชน์ในลักษณะของการป้องกันเป็นด้านหลัก แต่เมื่อมีวิวัฒนาการยาวนานขึ้น ถ้ำเหล่านี้อาจถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของการโจมตีได้ด้วย เช่น การขุดอุโมงค์ไปใกล้เป้าหมายที่ต้องการจู่โจม การใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขทางธรรมชาติเช่นนี้ ทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องของ “สงครามใต้พิภพ” ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อของการสงครามทางบก   ว่าที่จริงแล้ว นักการทหารในแต่ละยุคมีประสบการณ์กับสงครามในลักษณะเช่นนี้มาโดยตลอด แม้ในโลกสมัยใหม่ก็ตาม หรืออีกนัยหนึ่ง สงครามใต้พิภพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางการทหารแต่อย่างใด   บันทึกใน “สงครามยุคคลาสสิค” ของโพลิบิอุส ( Polybius)…