ข้อมูลยั่วยุจากบัญชีปลอม ได้รับความนิยมด้วยอัลกอริทึมของ ‘ยูทูบ’ เอง
ยูทูบเร่งปิดช่องที่นำเสนอข่าวปลอม หลังพบว่าช่องข่าวในสหรัฐฯ จำนวนมากนำเสนอข้อมูลที่ทั้งปลอมและยั่วยุได้อย่างรวดเร็วด้วยความช่วยเหลือจากระบบการ ‘แนะนำวิดีโอ’ ของยูทูบเอง ผู้ใช้งานบัญชียูทูบปลอมจำนวนมากเผยแพร่คอนเทนต์บนแพลตฟอร์มของยูทูบด้วยการดึงเอาวิดีโอจากสำนักข่าวใหญ่ต่างๆ มาใช้ โดยส่วนใหญ่เป็นภาพการนำเสนอข่าวในประเด็นต่างๆ ของสำนักข่าว CNN และมีการนำภาพจากสำนักข่าว FOX News มาใช้บ้างในบางกรณี ซึ่งเป็นการสร้างเนื้อหาที่บิดเบือนความจริงและยั่วยุ ปลุกปั่น สร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในสังคม ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้เป็นการหาผลประโยชน์โดยตรงกับอัลกอริทึมของยูทูบที่มีหน้าที่ในการ “แนะนำวิดีโอ” ให้กับผู้ชมที่สนใจในประเด็นเดียวกัน โดยระบบของยูทูบจะทำการแนะนำคลิปวิดีโอเหล่านี้ไปยังผู้ชมยูทูบที่สนใจเนื้อหาดังกล่าวทันทีหลังจากมีการโพสต์ลงบนแพลตฟอร์ม ทำให้ขณะนี้ทางยูทูบกำลังเร่งมือปิดช่องแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือนโดยเร็วที่สุด อัลกอริทึมด้านการแนะนำวิดีโอดังกล่าวยังได้แนะนำวิดีโอจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไปยังผู้ใช้งานยูทูบที่มีความสนใจในประเด็นนี้ โดยเป็นการเพิ่มความนิยมให้กับคลิปวิดีโอโดยอัตโนมัติ ซึ่งสำนักข่าว CNN ชี้ว่า บางช่องยูทูบที่นำเสนอข่าวปลอมด้านการเมืองมียอดเข้าชมคลิปวิดีโอไปมากกว่า 2 ล้านครั้งในระยะเวลาเพียงสุดสัปดาห์เดียวเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าความผิดพลาดดังกล่าวสร้างคำถามใหญ่จากสังคมว่ายูทูบมีวิธีการจัดการกับการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ยั่วยุ และข่าวปลอม ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ท่ามกลางความพยายามของผู้สร้างคอนเทนต์ในยูทูบที่พยายามหาทางเอาชนะระบบใหม่นี้เพื่อทำเงินบนแพลตฟอร์มให้มากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทกูเกิลซึ่งเป็นบริษัทแม่ของยูทูบเดินหน้าผลักดันมาตรการใหม่เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการแนะนำวิดีโอให้กับผู้ใช้งานยูทูบในประเด็นที่พวกเขาสนใจ บริษัท Plasticity สตาร์ตอัปด้านปัญญาประดิษฐ์และการประมวลภาษาธรรมชาติเพื่อให้เอไอสามารถเข้าใจภาษาของมนุษย์ซึ่งมีสำนักงานในนครซานฟรานซิสโกระบุว่า ภายหลังจากที่ทางบริษัทได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากยูทูบ Plasticity พบว่า มีช่องยูทูบหลายร้อยช่องนำเสนอข่าวปลอมและยั่วยุเหล่านี้จะ ใช้วิธีการเปลี่ยนกราฟฟิกบนหน้าจอ เช่น พาดหัวข่าวต่างๆ เพื่อบิดเบือนข้อมูลและสร้างความเข้าใจผิดให้สังคม รวมถึงเพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้คนคลิกเข้ามาชมวิดีโอเหล่านั้น ทั้งนี้ ยูทูบ ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNN Business ว่าทางทีมงานได้สืบสวนถึงกรณีดังกล่าวแล้วพบว่า บัญชีผู้สร้างคอนเทนต์หลอกลวงเหล่านั้นมีที่มาจากผู้ใช้งานในพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบว่านี่คือส่วนหนึ่งของแผนการสร้างสแปมโดยมีจุดประสงค์ในการสร้างวิดีโอเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อทำเงินในโลกออนไลน์จากยอดวิวและโฆษณาคั่นบนแพลตฟอร์มของยูทูบ นอกจากนั้นยูทูบยังยืนยันอีกด้วยว่าจากการสืบสวนไม่พบหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่าวิดีโอปลอมเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองในสหรัฐฯ และแม้ว่าทาง CNN และบริษัท Plasticity จะพบว่าวิดีโอจำนวนมากเป็นคลิปที่นำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนทางการเมืองของสหรัฐฯ…