Apple ลบแอปแผนที่ฮ่องกง หลังม็อบใช้สอดส่องความเคลื่อนไหวตำรวจ

Loading

บริษัทผู้สร้างโทรศัพท์ชื่อดัง Apple ตัดสินใจลบแอปพลิเคชั่นแผนที่ในฮ่องกง หลังพบว่ากลุ่มผู้ประท้วงนำมาไปใช้ระบุพิกัดแสดงตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า Apple บริษัทผู้สร้างโทรศัพท์มือถือชื่อดัง ได้ดำเนินการลบแอปพลิเคชั่นแผนที่ที่นิยมใช้ในพื้นที่ฮ่องกง หลังพบว่ากลายเป็นแอปฯ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงนำมาใช้ในทางการที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากนำมาติดตามความเคลื่อนไหวเจ้าหน้าที่ตำรวจและหมายเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่ แอปพลิเคชั่นดังกล่าวคือ “HKmap.live” ที่ล่าสุดแอปฯ ดังกล่าวถูกลบออกจากระบบและไม่สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้อีกต่อไป โดยทาง Apple ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า จากเดิมแอปฯ ดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ดั้งเดิม กระทั่งกลายเป็นภัยที่เกิดขึ้นในโลกเทคโนโลยีและเข้าข่ายผิดกฎหมาย ตามรายงานระบุว่า HKmap.live เป็นแอปฯ แผนที่ที่แนะนำเส้นทางต่างๆ ทั่วพื้นที่ฮ่องกง แต่กลับพบว่าปัจจุบันกลุ่มผู้ประท้วงได้ใช้แอปฯ ดังกล่าวในการติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล ก่อนจะระบุพิกัดและเข้าโจมตีเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่กลายเป็นเหตุความรุนแรง ทั้งนี้ การดำเนินการลบแอปพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากแรงกดดันจากสื่อของจีน หลังมีการเปิดประเด็นอ้างว่า “Apple ให้การสนับสนุนม็อบฮ่องกงหรือ?” และเปิดโปงว่ามีแอปฯ ในระบบ iOS ที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้ในการนำทางและแจ้งพิกัดของเจ้าหนาที่ตำรวจ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทางบริษัทผู้สร้างโทรศัพท์ชื่อดังได้ดำเนินการตรวจสอบและหาข้อเท็จจริง ก่อนจะพบว่าแอปพลิเคชั่นดังกล่าวถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จริง และเข้าข่ายเป็นการใช้เทคโนโลยีแบบละเมิดต่อข้อกฎหมาย จึงได้ตัดสินใจระงับและลบแอปพลิเคชั่นดังกล่าว ไม่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ฮ่องกงอีกต่อไป —————————————————— ที่มา : sanook / 10 ตุลาคม 2562 Link : https://www.sanook.com/news/7919466/

เมื่อสงครามเป็นไฮบริด เครื่องมือผสม-วิถีผสาน

Loading

โดย… สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ “วิธีการทางทหารจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อถูกใช้ผสมผสานกับวิธีการที่ไม่ใช่ทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการทางการเมือง เศรษฐกิจ ข้อมูลข่าวสาร ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และอื่นๆ… [ในกรณีนี้] เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การปะทะของหน่วยหลักทางทหารในแนวหน้าจะค่อยๆ กลายเป็นอดีต” Lawrence Freedman นักยุทธศาสตร์ชาวอังกฤษ ในแต่ละช่วงเวลาของโลก จะเห็นได้ว่าแบบแผนของสงคราม (pattern of war) มีความแตกต่างกันออกไป แบบแผนเช่นนี้เป็นผลผลิตของปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น เมื่อโลกอยู่ในยุคอาณานิคมของศตวรรษที่ 19 การสงครามของโลกก็มีแบบแผนเป็น “สงครามอาณานิคม” (Colonial Warfare) หรือเมื่อโลกมีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ผนวกเข้ากับพัฒนาการของเทคโนโลยีทหารแล้ว เราจะเห็นการกำเนิดของ “สงครามเบ็ดเสร็จ” (Total Warfare) ในศตวรรษที่ 20 และเมื่อเทคโนโลยีนิวเคลียร์มีพัฒนาการอย่างมากในยุคสงครามเย็น สงครามที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำการรบใหญ่ได้ ทำให้สงครามที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็น “สงครามจำกัด” (Limited Warfare) และเมื่อโลกในยุคปัจจุบันได้ก้าวสู่การปฏิวัติสารสนเทศ การสงครามของโลกก็มีทิศทางล้อไปกับการปฏิวัติดังกล่าว และทำให้เห็นถึงการมาของสงครามชุดใหม่ที่มีแบบแผนเป็น “สงครามข่าวสาร”…

แฉ แฮกเกอร์จีนเจาะโครงข่ายโทรคมนาคมตามรอย “อุยกูร์” ในเอเชีย รวมทั้ง “ไทย”

Loading

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แฮกเกอร์ซึ่งทำงานให้กับรัฐบาลจีน ได้เจาะเข้าไปในโครงข่ายโทรคมนาคมในหลายประเทศในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อติดตามชาวอุยกูร์ โดยเป็นการอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง 2 คน และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงอีก 2 คน ซึ่งทำหน้าที่ในการสอบสวนเกี่ยวกับการโจมตีดังกล่าว แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การแฮก หรือการเจาะระบบที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจารกรรมบนโลกไซเบอร์ ที่มีเป้าหมายเป็นบุคคลระดับสูง เช่น เจ้าหน้าที่ทูตและเจ้าหน้าที่ทหารต่างประเทศ แต่จีนจะพุ่งเป้าลำดับต้นๆไปกับการตามรอยการเคลื่อนไหวของชาวอุยกูร์ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยในจีน ที่รัฐบาลปักกิ่งเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อจีน ทั้งนี้ จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียง และมีชาวอุยกูร์จำนวนมากที่สุดคุมขังอยู่ในสถานที่ที่จีนเรียกว่าเป็นศูนย์ฝึกวิชาชีพ รอยเตอร์ระบุว่า ปฏิบัติการเจาะข้อมูลดังกล่าว เกิดขึ้นโดยแฮกเกอร์ชาวจีนหลายกลุ่ม ที่เจาะเข้าไปในระบบเครือข่ายของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในหลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งตุรกี คาซักสถาน อินเดีย มาเลเซีย และไทย โดยประเทศเหล่านี้มักจะถูกใช้เป็นจุดแวะของชาวอุยกูร์ในการเดินทางระหว่างซินเจียงกับตุรกี ซึ่งนักเคลื่อนไหวระบุว่า เป็นความพยายามที่จะหลบหนีการถูกดำเนินคดี ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งระบุว่า กลุ่มชาวอุยกูร์ที่เดินทางพวกนี้ เป็นพวกที่จะเดินทางไปร่วมต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธในอิรักและซีเรีย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนเองยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีบนโลกไซเบอร์หรือการกระทำทารุณต่อชาวอุยกูร์ ขณะที่รอยเตอร์เองไม่สามารถระบุได้ว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ถูกโจมตีคือใคร ขณะที่ทางการในอินเดียและไทยต่างปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าว ——————————————————- ที่มา : มติชน / 17 กันยายน 2562 Link : https://www.matichon.co.th/foreign/news_1674331