โดย…ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ วันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็น “วันกองทัพไทย” โดยถือเอาวันสำคัญในประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชย์แห่งพม่า และทำให้กรุงศรีอยุธยาปลอดจากศึกใหญ่จากพม่าไปประมาณ 100 ปี เป็นที่น่าเสียดายที่เด็กไทยสมัยนี้แทบไม่รู้จักพระมหากษัตริย์และบุคคลสำคัญที่กอบกู้และรักษา พัฒนาประเทศให้มั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน เพราะรัฐมนตรีศึกษาธิการในรัฐบาลสมัยหนึ่ง ให้ปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่ จนเด็กไทยแทบไม่รู้จักที่มาที่ไปของแผ่นดินที่ตนเกิดและเติบโตขึ้นมา กล่าวกันว่า วิธีดีที่สุดและได้ผลที่สุดในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข คือ การทำให้เด็กไทยไม่รู้ที่มาที่ไปของตนเอง ไม่รู้ความเป็นมาของประเทศ ไม่มีความภูมิใจในความเป็นมาของประเทศ ไม่รู้ถึงบทบาทและความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ พวกเขาใช้เวลายี่สิบปีจนบรรลุวัตถุประสงค์ระดับหนึ่ง เมื่อความภูมิใจ ความหยิ่งในความเป็นมาของประเทศของคนรุ่นใหม่แทบจะไม่เหลือ เรื่องนี้ไปโทษเด็กไม่ได้ แต่ต้องโทษนักการเมืองบางคนตั้งแต่รุ่นนั้นจนถึงปัจจุบัน มีสิ่งละอันพันละน้อยที่ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับยุทธหัตถีมาเลาให้ฟัง นักประวัติศาสตร์บางคนได้ตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ใช้กระทำยุทธหัตถีวันนั้น ตัวเล็กกว่าช้างของพระมหาอุปราชมาก ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อตัวเล็กกว่า พละกำลังก็ย่อมน้อยกว่า แล้วจะงัดแบกคู่ต่อสู้จนตัวลอย ทำให้พระมหาอุปราชถูกพระนเรศวรมหาราชฟันจนขาดสะพายแล่งบนคอช้าง ได้อย่างไร นับว่าคนตั้งข้อสังเกตเป็นคนละเอียดมาก ผู้เขียนเคยอ่านเรื่องนี้มาเหมือนกัน ซึ่งน่าจะยืนยันได้ว่า ช้างพระที่นั่งของพระนเรศวรมหาราชตัวเล็กกว่าช้างของพระมหาอุปราชจริง แล้วทำไมจึงดันจนคู่ต่อสู้จนเสียศูนย์ ทำให้ผู้นั่งบนคอข้างเสียศูนย์และถูกฟันจนตาย เรื่องเล่าว่า ก่อนนี้ช้างพม่าซึ่งใหญ่กว่าได้ใช้พละกำลังดันและแบกช้างพระที่นั่งจนตัวลอย พระมหาอุปราชได้ ฉวยโอกาสนี้จ้วงฟันพระนเรศวรมหาราชแต่ทรงหลบได้ แต่พระมาลาถูกฟันขาดจนกลายเป็นพระมาลาเบี่ยงซึ่งเล่าไว้แล้วในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี ช้างพระที่นั่งของพระนเรศวรมหาราช ได้รวมพลังแรงฮึดเป็นครั้งสุดท้ายแบกช้างคู่ต่อสู้จนตัวลอย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชใช้โอกาสนี้จ้วงฟันพระมหาอุปราชจนเสียชีวิตบนคอช้าง…