สหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะจัดส่ง ‘ระเบิดลูกปราย’ (Cluster Munitions) หรือ ‘คลัสเตอร์บอมบ์’ ให้กับยูเครนตามคำขอ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน เนื่องจากคลัสเตอร์บอมบ์ถูกมองว่าเป็นอาวุธร้ายแรงที่ปัจจุบันถูกแบนในกว่า 120 ประเทศ คลัสเตอร์บอมบ์คืออะไร อันตรายอย่างไร? ระเบิดลูกปรายหรือคลัสเตอร์บอมบ์ เป็นระเบิดที่บรรจุลูกระเบิดขนาดเล็กๆ ไว้ภายในจำนวนมาก วิธีการใช้ทำได้หลายวิธี คือ สามารถทิ้งลงจากเครื่องบิน ขีปนาวุธ หรือยิงโดยปืนใหญ่จากพื้นดินสู่พื้นที่เป้าหมายก็ได้ โดยคลัสเตอร์บอมบ์จะระเบิดกลางอากาศเพื่อปล่อยลูกระเบิดย่อยให้กระจายเป็นวงกว้าง จากมุมมองด้านการทหาร ระเบิดลูกปรายมีประสิทธิภาพอย่างน่ากลัวเมื่อใช้โจมตีกองทหารราบที่ประจำการอยู่ในสนามเพลาะหรือหลุมที่ถูกขุดเพื่อเป็นที่มั่นในการต่อสู้ ตลอดจนที่ประจำอยู่ตามป้อมค่ายต่างๆ อย่างไรก็ดี ความอันตรายของอาวุธชนิดนี้คือ ระเบิดลูกปรายมีความคลาดเคลื่อนผิดพลาดจากเป้าหมายและไม่ระเบิดในอัตราที่สูง หรือ ‘Dud Rate’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าระเบิดตกลงบนพื้นที่เปียกหรือนุ่ม รายงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ระบุว่า ระเบิดลูกปรายที่ถูกนำมาใช้ในความขัดแย้งล่าสุดนั้น มีอัตราระเบิดด้านสูงถึง 40% นั่นหมายความว่าลูกระเบิดขนาดเล็กอาจตกค้างบนพื้นดิน และอาจระเบิดขึ้นได้ในภายหลังเมื่อถูกหยิบหรือเหยียบ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ แม้ว่าจะผ่านไปอีกยาวนานหลายปีหรือหลายสิบปี ประชาคมระหว่างประเทศจึงพิจารณาเห็นว่า ระเบิดลูกปรายเป็นอาวุธที่ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมสูง กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า…