เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว YouTube ประกาศปิดช่อง YouTube 210 ช่องที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยเรื่องการทำงานอย่างประสานกันเพื่ออัพโหลดวิดีโอเกี่ยวกับการประท้วงในฮ่องกง โดย YouTube สันนิษฐานว่าช่องทางเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ด้านข่าวสารข้อมูลที่ปักกิ่งหนุนหลังอยู่เพื่อครอบงำมติมหาชนเกี่ยวกับการประท้วงในฮ่องกง ก่อนหน้านี้ราวหนึ่งสัปดาห์ Twitter กับ Facebook ก็ได้สั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่มีแนวทางบิดเบือน เช่นเปรียบเทียบกลุ่มที่ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในฮ่องกงว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายของรัฐอิสลาม โดย Twitter ได้ปิดบัญชี 936 บัญชีที่เริ่มส่งข้อความจากในประเทศจีน และ Facebook ก็ได้ยกเลิก 27 เพจ 3 กลุ่ม และอีก 5 บัญชีซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ Facebook เรียกว่าเป็นพฤติกรรมเสแสร้งและมีการทำงานอย่างประสานสอดคล้องกันด้วย ถึงแม้ว่าการตัดสินใจของบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ใหญ่ทั้งสามจะไม่ค่อยเห็นได้บ่อยนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อก็เตือนว่ายังมีงานที่รอให้ต้องทำอยู่อีกมาก เพราะขณะนี้การรณรงค์ระดับโลกของจีนเพื่อควบคุมข่าวสารข้อมูลไร้พรมแดนเป็นไปอย่างกว้างขวางทั้งยังคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาธิปไตยทั่วโลกด้วย โดยคุณ Cedric Alviani ผู้อำนวยการของหน่วยงานผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนประจำเอเชียตะวันออกที่กรุงไทเปเรียกร้องให้สาธารณชนให้ความสนใจเป็นพิเศษกับแหล่งที่มาของข่าวสารข้อมูลที่ได้รับ รวมทั้งช่วยรายงานเนื้อหาที่เห็นว่านำเสนอภาพหรือเหตุการณ์ที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริงอย่างจงใจ เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนดังกล่าวได้ออกรายงานเกี่ยวกับความพยายามของจีนเพื่อสร้างระเบียบความสัมพันธ์ของสื่อในโลกยุคใหม่ และชี้ว่าการโฆษณาชวนเชื่อรวมทั้งการบิดเบือนความจริงนับเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลกรุงปักกิ่งที่ใช้กับผู้ตำหนิวิจารณ์ตน อย่างไรก็ตามข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของจีนด้านปฏิบัติการข่าวสารข้อมูลระดับโลกก็คือ ในขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ที่สำคัญของสหรัฐ เช่น Facebook, Twitter และ YouTube นั้นไม่สามารถใช้งานอย่างเป็นทางการได้ในประเทศจีน สื่อสังคมของจีนเองเช่น Weibo และ WeChat สามารถมีบทบาทได้ทั่วโลกและมักได้รับอิทธิพลด้านเนื้อหาจากสื่อต่างๆ…