มาตรการความปลอดภัยทางอากาศหลังเหตุการณ์ 911 ช่วยป้องกันการโจมตีซ้ำแต่ต้องแลกกับความเป็นส่วนตัว
หลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับบลิว บุชในขณะนั้นได้ลงนามในกฎหมายเพื่อตั้งหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ คือ TSA เพื่อรักษาความปลอดภัยสำหรับการเดินทางทางอากาศ และถึงแม้มาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ อย่างเข้มงวดที่นำมาใช้จะช่วยยับยั้งไม่ให้เกิดการโจมตีจากผู้ก่อการร้ายซ้ำในสหรัฐฯ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแต่เรื่องดังกล่าวก็ต้องแลกกับความเป็นส่วนตัวของผู้เดินทาง และได้เปลี่ยนทั้งโฉมหน้าแvละการทำงานของอุตสาหกรรมการบินโดยสิ้นเชิง รวมทั้งยังทำให้การเดินทางทางอากาศของผู้คนมีปัญหากดดันมากขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะสองเดือนหลังการโจมตีดังกล่าวประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชได้ลงนามในกฎหมายเพื่อตั้งหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลกลางในสังกัดกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิชื่อ Transportation Security Administration หรือที่เรียกย่อๆ ว่า TSA เพื่อทำหน้าที่ตรวจคัดกรองผู้เดินทางแทนเจ้าหน้าที่ของภาคเอกชนซึ่งอุตสาหกรรมการบินเคยใช้อยู่ก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้ต้องมีการตรวจเอ็กซเรย์กระเป๋าสัมภาระทุกใบ มีการเสริมความมั่นคงที่ประตูห้องนักบิน และมีการส่งสารวัตรอากาศหรือ Air Marshal ขึ้นไปกับเครื่องบินบางลำเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยด้วย ข้อกำหนดด้านการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ผู้เดินทางทางอากาศต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นและถูกกดดันมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีกฎข้อบังคับอื่นๆ เช่นการต้องถอดรองเท้าและเข็มขัดก่อนเดินผ่านเครื่องตรวจ รวมถึงการห้ามนำของเหลวหรือเครื่องดื่มบางอย่างผ่านจุดตรวจแต่สามารถซื้อเครื่องดื่มเหล่านั้นได้หลังผ่านจุดตรวจไปแล้วซึ่งก็ทำให้หลายคนตั้งคำถามแต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เป็นต้น ดูเหมือนว่าหน่วยงาน TSA จะพยายามช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางที่สมัครใจจ่ายค่าธรรมเนียมและลงทะเบียนในโปรแกรมบางอย่าง เช่น Global Entry หรือ PreCheck ซึ่งจะช่วยให้เสียเวลาและมีขั้นตอนต่างๆ ที่จุดตรวจน้อยลง อย่างไรก็ตามมาตรการด้านความปลอดภัยทั้งหมดที่นำมาใช้นี้แม้จะเรียกว่าได้ผลเพราะไม่เคยมีการโจมตีในลักษณะเดียวกันอีกในสหรัฐฯ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวก็ต้องแลกกับความเป็นส่วนตัวของผู้เดินทางเช่นกัน…