ยูเครนแจกยาเม็ดไอโอดีนให้ชาวบ้านใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หวั่นรังสีรั่วไหล

Loading

  ยูเครนแจกยาเม็ดโพแทสเซียมไอโอดีนป้องกันกัมมันตภาพรังสีให้ประชาชนรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปรีเจีย หวั่นเกิดภัยพิบัติ รังสีรั่วไหล วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เอ็นบีซีนิวส์รายงานว่า ทางการยูเครนเริ่มแจกจ่ายยาเม็ดไอโอดีนให้กับผู้ที่อยู่อาศัยใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลว่าการสู้รบรอบโรงไฟฟ้าฯ อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลของรังสี หรือนำไปสู่ภัยพิบัติที่อันตรายกว่า ความเคลื่อนดังกล่าวมีขึ้นหนึ่งวันหลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปรีเจียถูกตัดการเชื่อมต่อจากโครงข่ายไฟฟ้าของยูเครนเป็นการชั่วคราว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 40 ปี เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ในยูเครน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดกับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เมื่อปี 2529 “โวโลดิมีร์ มาร์ชุค” โฆษกสำนักบริหารภูมิภาคซาโปรีเจียของกองทัพยูเครน เผยว่า ยาเม็ดไอโอดีนถูกแจกจ่ายให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตรจากโรงงานในเมืองเอเนอร์โฮดาร์ (Enerhodar) “ผู้ได้รับยาชนิดนี้ได้รับคำสั่งไม่ให้ใช้ยาในลักษณะการป้องกัน เพราะยานี้จะใช้ในกรณีที่รังสีรั่วไหลในอนาคต ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลจะสั่งให้ประชาชนกินยาเม็ดนี้” อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ระบุว่า มีการแจกจ่ายยามากน้อยแค่ไหน และใครบ้างที่ได้รับยา แต่เขาได้เผยทางเทเลแกรมว่า มีการส่งมอบยาเม็ดไอโอดีน 25,000 เม็ด ไปยังเมืองทางตอนใต้ พร้อมกับเน้นย้ำว่า ระดับรังสีที่โรงไฟฟ้าฯ และพื้นที่โดยรอบ ขณะนี้ยังเป็นปกติ ยาเม็ดโพแทสเซียมไอโอดีนมีคุณสมบัติในการบล็อกสารกัมมันตภาพรังสีชนิดหนึ่ง และถูกนำมาใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ เพื่อช่วยปกป้องต่อมไทรอยด์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา บริษัทเอเนอร์โกอะตอม (Energoatom) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครนระบุว่า โรงไฟฟ้าฯ แห่งนี้ได้รับพลังงานอย่างปลอดภัยผ่านสายไฟฟ้าที่ซ่อมแซมแล้วจากโครงข่ายไฟฟ้า หนึ่งวันหลังจากถูกตัดการเชื่อมต่อจากโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ…