ถาม-ตอบ : พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
ผู้เขียนจะเล่าถึงพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๖๕ ที่เพิ่งประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ปัญหาและที่มา ปัญหาก่อนหน้านี้ คือ กฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับกำหนดให้การปฏิบัติราชการหรือการติดต่อกับประชาชนต้องใช้สำเนาหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือจำกัดวิธีหรือรูปแบบในการติดต่อราชการเฉพาะการติดต่อด้วยตัวบุคคล ณ สถานที่ทำการ หรือนำส่งเอกสารต่าง ๆ ทางไปรษณีย์ อันเป็นผลให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างเต็มรูปแบบ (ซึ่งที่ผ่านมาบางหน่วยงานที่ไม่มีข้อติดขัดทางกฎหมาย และข้อจำกัดทางงบประมาณได้มีการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการแล้วบ้าง) ดังนั้น ที่มาของ พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ คือ การตรากฎหมายกลางเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลสมบูรณ์ในทางกฎหมาย ใช้กับทุกหน่วยราชการหรือไม่? คำตอบ คือ “ไม่” โดย พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์จะใช้กับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ยกเว้น (๑) รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (๒) หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ (๓) หน่วยงานของรัฐในฝ่ายตุลาการ (๔) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (๕) องค์กรอัยการ และ (๖) หน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง …