ประเทศสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศเอกราชที่เกิดขึ้นด้วยความต้องการของคนในชาติ แต่ถูกขับออกจากประเทศมาเลเซียในปี 2508 เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ขาดแคลนทรัพยากรแม้กระทั่งน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคก็ไม่เพียงพอ แต่การขาดแคลนดังกล่าวกลับทำให้คนสิงคโปร์ตระหนักว่าทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยให้อยู่รอดก็คือ คนที่มีคุณภาพนั่นเอง ความเป็นเมืองอัจฉริยะมาจากคุณภาพของคนเป็นเบื้องต้น รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตอกย้ำหลักพื้นฐานของความเป็นเมืองหรือประเทศอัจฉริยะว่าประกอบด้วย 3 เรื่องคือ 1.สังคมดิจิทัล (Digital society) หมายถึงสังคมที่ทุกคนซึ่งมีความแตกต่างได้เชื่อมโยงกันและรับโอกาสที่ดีขึ้นด้วยการสนับสนุนจากเทคโนโลยี โดยจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนสิงคโปร์สามารถเข้าถึง มีความรู้ ยอมรับและมีส่วนร่วมในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล โดยประชาชนได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐในการเข้าอบรมพัฒนาตนเอง 2.เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม เช่น การรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่าบิ๊กดาต้าและวิเคราะห์หาพฤติกรรมลูกค้า สร้างนวัตกรรมตอบสนองความต้องการให้ตรงจุดมากขึ้น ตลอดจนปรับเปลี่ยนการจัดสรรทรัพยากรของภาคธุรกิจอย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแสดงความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วไปเทศ เพื่อให้ธุรกิจที่ทำการผลิตไฟฟ้าสามารถจัดการการผลิตในปริมาณที่เหมาะสมและวางแผนขายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.รัฐบาลดิจิทัล เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างความสามารถของภาครัฐในการให้บริการประชาชน ผ่านการกำหนดนโยบายและออกแบบการให้บริการที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง มีการใช้แอปพลิเคชันในการให้บริการประชาชน เช่น การแจ้งเบาะแสการหลอกลวงทางโทรศัพท์มือถือ การเก็บข้อมูลเพื่อนำไปคำนวณภาษี ฯลฯ ทั้งนี้ การสร้างเมืองอัจฉริยะจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วม โดยเป้าหมายท้ายสุดคือสร้างความสุขให้แก่ประชาชนในประเทศ …