โรแบร์โต ซิมานอฟสกี กับอัลกอริธึ่มมรณะ
โรแบร์โต ซิมานอฟสกี กับอัลกอริธึ่มมรณะ เทคโนโลยีดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์แทบจะทุกขณะของจังหวะชีวิต บางคนบอกว่าเป็นสังคมก้มหน้าที่ทุกคนจดจ้องกับสมาร์ตโฟนในมือตัวเอง หลายคนโอดครวญว่าโซเชียลมีเดียได้พรากเอาเวลาชีวิตอันแสนมีค่าไปจากตน ปัจจุบันเรามีวิธีจัดการเวลาในการใช้โซซียลมีเดียแบบดิจิตอลมินิมัลลิสม์ (digital minimalism) นักปรัชญาจำนวนมากก็ตื่นตัวกับประเด็นเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอล รวมทั้งผลกระทบที่ส่งผลต่อชีวิตและสังคม โรแบร์โต ซิมานอฟสกี (Roberto Simanowski) เป็นนักปรัชญาและนักทฤษฎีสื่อชาวเยอรมัน ที่ตั้งคำถามต่อเทคโนโลยีดิจิตอลได้แหลมคมที่สุดคนหนึ่ง หนังสือ The Death Algorithm and Other Digital Dilemmas (2018) เป็นรวมความเรียงที่แสดงให้เห็นอันตรายของเทคโนโลยีดิจิตอล รวมทั้งทางออกที่เป็นไปได้ที่จะอยู่กับเทคโนโลยีดังกล่าว เขาเห็นว่าปัญหาอยู่ที่การมองว่าเทคโนโลยีเป็นกลาง และสามารถใช้ไปในทางที่เป็นคุณหรือโทษก็ได้ โดยไม่ตระหนักว่าเทคโนโลยีมีสารัตถะของตัวเอง จริงอยู่เราอาจใช้ปืนพกตอกตะปูได้ แต่ก็ไม่มีใครทำเช่นนั้น การเรียกร้องให้ใช้โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook โดยแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจังด้วยการคอมเมนต์ในรูปของความเรียง ก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้ปืนพกไปตอกตะปู ซิมานอฟสกีเห็นว่าเราจะเข้าใจเทคโนโลยีได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจสารัตถะ (essence) ของมัน เขากลับไปหาแนวคิดของนักปรัชญาเยอรมันอย่างมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ผู้เห็นว่า สารัตถะของเทคโนโลยีไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเทคโนโลยีเลย หากแต่เป็นการเปิดเผย (revealing) นั่นคือเทคโนโลยีต้องการเปิดเผยตัวมันเองออกมา เราเห็นได้จากการที่ความเปลี่ยนแปลงความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นำไปสู่การสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา …