ถอดรหัสเหตุร้ายในห้างสรรพสินค้า แรงจูงใจ 3 ด้านอาชญากร

Loading

    เหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนจู่โจมก่อเหตุ “ชิงทรัพย์ธนาคาร หรือร้านทอง” ในสถานที่ที่คนพลุกพล่านตาม “ห้างสรรพสินค้า” เริ่มเกิดถี่มากยิ่งขึ้นใน “ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ” จากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 ที่มีโอกาสนำสู่เกิดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินได้อยู่เสมอ ทำให้ประชาชนต่างรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” อย่างเคยเกิดขึ้นมาแล้วใน “เหตุคนร้ายจี้ชิงทอง ในห้างฯดัง จ.ลพบุรี” กลายเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่อาจไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้ายก็ได้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต บอกว่า     ทุกคนมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามอันเป็นอันตรายแก่ชีวิต และทรัพย์สินแบบคาดไม่ถึงได้ทุกที่ทุกเวลา “คนร้าย” มีโอกาสก่อเหตุร้ายแรงได้เสมอ นับแต่ปี 1990 มีการขยายตัวของสังคมเมืองมากขึ้น มีผลให้เหตุอาชญากรรมเพิ่มตามมาด้วย ทั้งคดีฆ่าผู้อื่น หรือคดีพยายามฆ่า ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา…นักอาชญาวิทยามีการศึกษาเกี่ยวกับคดีฆ่าผู้อื่น ที่มีจุดเริ่มต้นของการก่ออาชญากรรมนี้เกิดจากจุดเล็กน้อยของความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม ตั้งแต่การขีดเขียนบนฝาผนังทั่วไป การทิ้งขยะเรี่ยราดไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่ว่าจะเป็นที่สวนสาธารณะ ถนนที่ทำงาน โรงเรียน ที่เรียกว่า…“ทฤษฎีหน้าต่างแตก” (Broken windows) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางอาชญาวิทยาของการสร้างมาตรฐาน ในการเปรียบเทียบจุดเริ่มต้นของ “การก่อเหตุอาชญากรรม” เสมือนกับ “หน้าต่างร้าว” เมื่อปล่อยไม่ซ่อมแซมแก้ไข ทำให้หน้าต่างบานนี้แตกได้…