แม้ว่าจะมีข่าวที่ประกาศเตือนภัยมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ อยู่ทุกวัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีข่าวของคนที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพอยู่ทุกวันเช่นเดียวกัน มูลค่าความเสียหายก็มีตั้งแต่ไม่กี่บาท (มักไม่เป็นข่าว แต่เริ่มมีการเตือนกันเองในหมู่คนรู้จัก) ไปจนถึงหลักล้านบาท ส่วนความเคลื่อนไหวของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็เริ่มออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมากขึ้น มาตรการแบบวัวหายแล้วล้อมคอก เพราะขยับตัวออกเดินตามหลังมิจฉาชีพอยู่หลายก้าว เรียกได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางการเงินของภาครัฐที่ทำงานไม่ทันโจรเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม มาตรการการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งจะมีการออกมาตรการที่ชัดเจนเมื่อไม่นานที่ผ่านมาก็ค่อนข้างที่จะมีช่องโหว่อยู่พอสมควร อย่างเช่นมาตรการการให้ผู้ใช้บริการยืนยันตัวตนด้วย biometrics ในกรณีที่ลูกค้าทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ อย่างการโอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป ตรงจุดนี้ สำหรับคนหาเช้ากินค่ำที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ จำนวนเงินที่ถูกโอนออกไปจากบัญชีอาจไม่มากถึง 50,000 บาท แต่มันก็เป็นเงินที่พวกเขาหามาอย่างยากลำบากและต้องเก็บไว้ใช้ดำรงชีพเหมือนกัน และมันอาจเป็นเงินสุทธิทั้งหมดที่พวกเขามีด้วย นั่นหมายความว่าหากเหยื่อมีเงินในบัญชีไม่ถึง 50,000 บาท แล้วถูกมิจฉาชีพในกลโกงต่าง ๆ โอนเงินจำนวนนั้นออกไปทั้งหมด พวกเขาก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงมาตรการการยืนยันตัวตนก่อนที่เงินจะถูกโอนออกไป เพราะจำนวนเงินมันไม่ได้มากถึง 50,000 บาท ซึ่งเงินไม่ถึง 50,000 บาทที่โดนโกงไปนั้น มันก็ทำให้พวกเขาหมดตัวได้เช่นกัน…