การโจรกรรมข้อมูลและมัลแวร์เรียกค่าไถ่: คุณพร้อมรับมือหรือพร้อมจ่ายหรือไม่?
การโจรกรรมข้อมูลโดยกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่กระทำการอย่างซับซ้อนกำลังเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่จำนวนครั้งและขอบเขตการโจมตี อย่างเช่นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในช่วงปลายปี 2565 มีรายงานว่าเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลียซึ่งกระทบต่อลูกค้าของ Optus บริษัทด้านโทรคมนาคมรวมแล้วกว่า 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทยเองก็พบปัญหาการละเมิดข้อมูลของโรงพยาบาลหลายแห่งรวมถึงกระทรวงสาธารณสุขในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยรั่วไหลและถูกเรียกค่าไถ่เพื่อนำฐานข้อมูลกลับมาเหมือนเดิม อาชญากรไซเบอร์ เช่น Desorden Group คัดเลือกเหยื่ออย่างพิถีพิถัน โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในเอเชียที่มีช่องโหว่ชัดเจนซึ่งสามารถเจาะระบบได้ง่าย โดยจะลอบดึงข้อมูลจากบริษัทหรือองค์กรให้ตกเป็นเหยื่อ และข่มขู่ว่าจะเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นหากไม่ยอมจ่ายค่าไถ่ และหากไม่ได้รับการตอบกลับ อาชญากรกลุ่มนี้ก็จะทำให้เหยื่อได้รับความอับอายไปทั่ว ปล่อยข้อมูลให้รั่วไหล และยกระดับการกดดันให้เข้มข้นยิ่งขึ้น วายร้ายทุกวันนี้ไม่ได้อยากเก็บตัวแบบในอดีต หากแต่พร้อมที่จะป่าวประกาศและเปิดเผยรายละเอียดกับสื่อมวลชนว่าตนเองเจาะเข้าระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของเหยื่ออย่างไร อย่างเช่นที่ Daixin Team ซึ่งโจมตี AirAsia ถึงกับหาญกล้าระบุว่า พวกเขาตัดสินใจไม่โจมตีระบบของที่นี่ต่อไปเนื่องจากหงุดหงิดกับความไร้ระเบียบในการตั้งค่าระบบเครือข่ายของสายการบิน เตรียมพร้อม รักษาความปลอดภัย การละเมิดข้อมูลส่วนตัวโดยมากเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ บริษัทต่างๆ มักพูดถึงผู้บุกรุกที่อาศัยเทคนิคอันซับซ้อน แต่ที่จริงแล้วมีเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้นที่ผู้ตกเป็นเป้าหมายสามารถควบคุมได้โดยสมบูรณ์ นั่นก็คือ ความพร้อม (หรือการขาดความพร้อม) ของตนเอง ในช่วงที่เกิดโรคระบาด บริษัทหลายแห่งได้ควบรวมและจัดแจงรายจ่ายทางเทคโนโลยีใหม่ มีการลงทุนเพื่อปรับธุรกิจให้เป็นระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจต่อไป ฝ่ายไอทีก็เน้นไปที่การเปิดใช้ระบบการทำงานจากทางไกลเพื่อให้พนักงานและระบบภายในองค์กรมีความปลอดภัยและรองรับการทำงานได้อย่างดี …