ย้อนบทเรียน‘ซิมบับเว’กระตุกไทย เลิกหลับใหลระบบจัดการผู้อพยพ

Loading

  แม้ผ่านช่วงร้อนแรงของการสู้รบ แต่ภาพการอพยพของผู้คนในอัฟกานิสถาน กำลังสร้างปรากฎการณ์ที่หลายประเทศต้องจับตา สถานการณ์ระอุหลัง“ตาลีบัน”ยึดอำนาจ“อัฟกานิสถาน”สำเร็จ ภาพที่เกิดขึ้นทันทีคือการ“อพยพ”เอาตัวรอดออกนอกประเทศ ปรากฏการณ์คนจำนวนมากกรูกันไปที่สนามบินหวังขึ้นเครื่องบินไปตายเอาดาบหน้าแบบไม่คิดชีวิต  เพื่อเริ่มต้นบนผืนแผ่นดินใหม่ใครเห็นก็เศร้าใจ ประเทศไทยแม้ห่างไกลสถานการณ์ และคงไม่ใช่หมุดหมายปลายทางของผู้อพยพกลุ่มนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยภาวะสงคราม ความต้องการหนีภัยความมั่นคง และการย้ายถิ่นฐานของประชากร อาจส่งผลให้ประเด็นผู้อพยพ  การลี้ภัยมีความเสี่ยงเผชิญหน้าได้มากขึ้นในอนาคต  และการวางแผนรับมือล่วงหน้าย่อมดีกว่าแน่นอน… ดังเรื่องราวจากภาพยนตร์ดังหลายปีก่อน“ The terminal” ที่มีตัวเอกใช้ชีวิตอยู่ในสนามบินนานแรมปี  ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศที่มาถึงได้  และไม่สามารถเดินทางกลับไปประเทศบ้านเกิดได้เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบ ใครคิดว่าจะเกิดขึ้นจริงมาแล้วที่ประเทศไทย     ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 มีเหตุการณ์ครอบครัวชาวชาวซิมบับเว  8  ชีวิต ประกอบด้วยผู้ใหญ่ 4 ชีวิต  เด็กอีก 4 ชีวิต ติดอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมินาน 3 เดือน ก่อนปรากฏเป็นข่าว ซึ่งต่อมาจึงรู้ว่าคนเหล่านี้ใช้ชีวิต กิน นอน อยู่ในเขตอาคารผู้โดยสารชั้นใน  โดยมีสายการบินเป็นผู้ดูแล เพราะไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศปลายทางได้   ตามเหตุการณ์ทั้งครอบครัวเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่าท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมาก็มีสถานะอยู่เกินกำหนด(over stay)ระหว่างนี้เคยมีการประสานขอขึ้นทะเบียนสถานะผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่ด้วยขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลานานนับปี ต่อมาทางครอบครัวจึงขอเดินทางออกจากประเทศไทย  มีการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อย  หลังเดินทางฟ้าออกไปสุดท้ายถูกสายการบินยูเครนส่งตัวกลับมาที่สนามบินสุวรรณภูมิเพราะไม่มีวีซ่ายูเครน ความไม่สงบในประเทศบ้านเกิดทำให้ครอบครัวชาวซิมบับเวไม่ต้องการเดินทางกลับไป  แต่ต้องการขอลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สามแทน   การใช้ชีวิตยาวนานนับเดือนอยู่ในสนามบินของครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ไม่ใช่เรื่องเหมาะสมหรือควรเกิดขึ้น …