“เกสตาโป” ตำรวจลับยุคฮิตเลอร์ ขาโหด-สอดส่อง-รวบตัวคนได้ทั่วแดนจริงหรือ?
เยอรมนี ภายใต้ร่มเงา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นช่วงที่นักประวัติศาสตร์ล้วนอธิบายการเมืองการปกครองในห้วงนั้นว่าเป็นแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในระบอบนาซีคือหน่วย เกสตาโป (Gestapo) ตำรวจลับที่มีบทบาทสำคัญในการฝังความรู้สึกหวาดกลัวในหมู่พลเรือน คำถามคือ เรื่องนี้เป็นมายาคติ หรือเป็นเรื่องจริงที่มาจากหลักฐานอันมีน้ำหนักเพียงพอ? ในยุคนาซี ชาวเยอรมันคุ้นเคยกับการเรียกหน่วยงาน “ตำรวจ” ด้วยคำว่า Po เช่น ตำรวจฝ่ายอาชญากรรมเรียกว่า Kripo ตำรวจที่ดูแลรักษาความปลอดภัยเรียกว่า Sipo แต่ศัพท์เรียกหน่วยตำรวจซึ่งลือชื่อที่สุดต้องเป็นคำว่า “เกสตาโป” หรือ ตำรวจลับ ซึ่งเป็นคำที่จดจำยาวนานมาจนถึงวันนี้ ทั้งยังกลายเป็นคำศัพท์ที่สื่อถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกหวาดหวั่นในอำนาจการสอดส่องและการดำเนินการอันน่าสะพรึงกลัว การศึกษาเรื่อง “เกสตาโป” ยุคต้น งานศึกษา (เกี่ยวกับเกสตาโปและนาซี) โดยนักวิชาการผู้ศึกษาการเมืองในช่วงหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นงานที่เกิดขึ้นนอกอาณาเขตของเยอรมนี หนึ่งในผลงานที่ถูกกล่าวขานกันมากคืองานเขียน The Origins of Totalitarianism (หรือจุดกำเนิดของการปกครองแบบเผด็จการ) โดย ฮันนาห์ อาเรนด์ท (Hannah Arendt) เธอวิเคราะห์และอธิบายการปกครองแบบลัทธินาซีและลัทธิสตาลิน เธอบ่งชี้ว่า รัฐที่ปกครองในระบอบเผด็จการ “ทุกแห่ง” ล้วนพึ่งพิง “ตำรวจลับ” (secret…