สงครามกับความมั่นคงด้านอาหาร
โดย…ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ ************ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ให้บทเรียนในประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานแก่โลก สหรัฐฯ ใช้สงครามเศรษฐกิจและการเงินกดดันรัสเซีย รัสเซียตอบโต้การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปโดยห้ามส่งออกน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบ ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปยังยุโรป รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลก โดยส่งออกข้าวสาลีร้อยละ 30 ข้าวโพดร้อยละ 20 และน้ำมันทานตะวันร้อยละ 75 ของความต้องการตลาดโลก รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีลำดับ 5 ของโลก สองประเทศส่งออกข้าวบาร์เลย์ร้อยละ 19 ของโลก นอกจากนั้น ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ของโลก ซึ่งน้ำมันนี้นำไปใช้ประกอบอาหาร ปีการผลิต 2565 ผลผลิตข้าวสาลีลดลงอยู่แล้ว บวกกับการขึ้นภาษีส่งออกธัญพืช ซ้ำมาเจอกับมาตรการที่รัฐบาลรัสเซียห้ามส่งออก ยูเครนก็ส่งออกไม่ได้ ราคาข้าวสาลีและธัญพืชอื่นๆ ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก ปี 2564 ราคาข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 คาดว่าในปี 2565 ราคาจะเพิ่มขึ้นอีก น้ำมันดอกทานตะวันคาดว่าจะสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60 สงครามทำให้การเลี้ยงปศุสัตว์และการผลิตผักผลไม้ ลดลงเช่นกัน ซึ่งหมายถึงว่าราคาในตลาดโลกก็จะสูงขึ้น ระบบการขนส่งก็ไม่สะดวก น้ำมันขึ้นราคา ค่าขนส่งก็ขึ้นด้วย…