ร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรกับประชาสังคมภาคใต้ | สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

Loading

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2565 ระบบกลางทางกฎหมายได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ… จัดทำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจะดำเนินการไปจนถึงวันที่ 25 มี.ค.2565 อย่างไรก็ตาม ได้ปิดรับฟังความคิดเห็นในระบบกลางทางกฎหมายก่อนกำหนด ในส่วนขององค์กรภาคประชาสังคมในภาคใต้นั้น ได้จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว ในระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมด้วยกันเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และเห็นว่ามีประเด็นจากการพูดคุยที่น่าสนใจที่ควรนำเสนอต่อสาธารณะ ดังนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเข้าใจและเรียกในชื่อสั้นๆ ว่า “ร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ” ซึ่งหากพิจารณานิยามความหมายของคำว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ที่หมายถึง “คณะบุคคลภาคเอกชนซึ่งรวมกลุ่มกัน จัดตั้งในรูปแบบใดๆ ที่มีบุคคลรวมดำเนินงานเพื่อจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจกรรมเป็นการเฉพาะคราว หรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลนั้น หรือพรรคการเมือง” จะพบว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไร” มีความหมายที่กว้างมาก ไม่ได้มีความหมายเพียงการรวมกลุ่มของบุคคลเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดกิจกรรมการกุศลหรือกิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่ไม่เป็นการเฉพาะคราวด้วย ดังนั้น การเรียกร่างกฎหมายดังกล่าวว่า “ร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ” อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องผลกระทบของร่างกฎหมายดังกล่าวได้ องค์กรที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น สมาคมกีฬา ป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู กลุ่มเส้นด้าย เป็นต้น อาจจะยังเข้าใจว่ากฎหมายดังกล่าวไม่กระทบต่อตนเอง ทั้งที่หากพิจารณาจากร่างกฎหมายแล้ว องค์กรเหล่านี้ถูกนับรวมเป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ตามกฎหมายดังกล่าวทั้งสิ้น…