เมื่อศาลสูงสหรัฐฯ ต้องตีความมาตรา 230 กับคดีพิพาท Google ที่อาจพลิกโฉมโลกอินเทอร์เน็ตที่เรารู้จัก
ในวันอังคารนี้ (28 กุมภาพันธ์) ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาจะเริ่มพิจารณาคดีที่มีชื่อว่า Gonzalez v. Google ซึ่งใจความหลักของคดี คือ การตีความข้อกฎหมายที่เรียกว่า Section 230 ว่ามีขอบข่ายในการปกป้องบริษัทในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตมากแค่ไหน และผลคำตัดสินในคดีนี้อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมนี้ไปโดยสิ้นเชิง กฎหมายมาตรา 230 (Section 230) คืออะไร ในช่วงต้นทศวรรษ 90 ที่อินเทอร์เน็ตกำลังก่อร่างสร้างตัว ชาวอเมริกันต่างก็ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนี้มาก โดยที่ทุกคนมองว่านี่คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ทุกคนมองถึงโอกาสทางเศรษฐกิจอันจะเกิดจากการเชื่อมคนทุกคนบนโลกไว้ด้วยกัน แต่อย่างไรก็ดีชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะผู้ที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมมองเทคโนโลยีใหม่นี้ด้วยสายตาเป็นกังวล เพราะพวกเขามองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไร้กฎหมายควบคุม ซึ่งอาจจะทำให้เนื้อหาในอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยสิ่งที่ผิดศีลธรรมทั้งเรื่องเพศ ความรุนแรง และยาเสพติด ในที่สุดกลุ่มอนุรักษนิยมก็ได้ผลักดันให้วุฒิสภาออกกฎหมายที่มีชื่อว่า Communication Decency Act of 1996 ซึ่งร่างกฎหมายนั้นเน้นไปที่การควบคุมเนื้อหาโป๊เปลือย โดยระบุให้การอัปโหลดหนังโป๊หรือภาพโป๊เปลือยเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดี เมื่อร่างกฎหมายได้ลงมาพิจารณาที่สภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. 2 คน คือ คริสโตเฟอร์ คอกซ์ และ รอน ไวเดน ได้ออกความเห็นว่าการออกบทลงโทษคนโพสต์อย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอ…